แอพฯวิดีโอ 'โต่วอิน' พลิกชีวิตเกษตรกรจีน

แอพฯวิดีโอ 'โต่วอิน' พลิกชีวิตเกษตรกรจีน

ปัจจุบันการสร้างคลิปวิดีโอ ได้กลายเป็นกลยุทธ์การขายสุดฮิตสำหรับเกษตรกรชาวจีนไปแล้ว ถึงขนาดทำให้บางคนหลุดความยากจน

"คุณอยากได้สักชิ้นไหม" หม่า กงซัวะ เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชาวจีน พูดใส่กล้องสมาร์ทโฟนของเพื่อนคนหนึ่ง ก่อนที่เขาจะกัดรวงผึ้งที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้งสีเหลืองอำพันอย่างเอร็ดอร่อย

157935938615

คลิปวิดีโอของเขาถูกเผยแพร่ไปยังผู้ติดตามกว่า 737,000คนบน "โต่วอิน" (Douyin) แอพพลิเคชั่นแชร์คลิปยอดนิยมเวอร์ชั่นจีน หรือที่คนทั่วโลกรวมถึงคนไทยรู้จักกันในนาม "ติ๊กต๊อก" (TikTok) ซึ่งมีผู้ใช้งานรวมกว่า 400 ล้านคนในแดนมังกร และทำให้หม่ากลายเป็นคนดังได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การสร้างคลิปวิดีโอกลายเป็นกลยุทธ์การขายสุดฮิตสำหรับเกษตรกรชาวจีนไปแล้ว คลิปต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคที่ฉลาดเลือกมากขึ้น ได้เห็นถึงต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์และเป็นหน้าต่างส่องวิถีชีวิตในชนบทที่ตราตรึงจินตนาการของผู้ชม

สำหรับบางคน การใช้แอพพลิเคชั่นนี้ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นความยากจน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนคาดหวังที่จะขจัดให้หมดประเทศภายในปี 2563

"ทุกคนบอกว่า ผมมันไม่เอาถ่านตอนที่พวกเขาเห็นผมกลับมาที่นี่" หนุ่มวัย 31 ปี เล่าถึงช่วงที่เขากลับมาหมู่บ้านหลังไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ "พวกเขาบอกเราว่า เราจะหายจนได้ก็ต่อเมื่อเรียนหนังสือและได้งานทำในเมืองเท่านั้น"

ทุกวันนี้ หม่ามีรถแพงๆ ขับ และมีรายได้มากพอจนซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้แล้ว อีกทั้งยังช่วยเหลือพ่อแม่และเพื่อนร่วมหมู่บ้านให้มีบ้านและธุรกิจเป็นของตัวเอง

ในปี 2558 หม่าสานต่อธุรกิจผลิตน้ำผึ้งของครอบครัวในพื้นที่แถบเนินเขาของมณฑลเจ้อเจียงและด้วยอานิสงส์จากแอพพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซยุคนี้ ทำให้เขามีรายได้ 1 ล้านหยวน หรือราว 4.38ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากนั้นไม่นานยอดขายธุรกิจนี้ก็เริ่มชะลอตัวลง

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน2561 หม่าได้เริ่มโพสต์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับวิถีชีวิตเกษตรกรของตัวเองลงบนโลกออนไลน์ ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน

157935909681

คลิปเหล่านี้แสดงให้เห็นช่วงที่เขาฝ่ากองทัพผึ้งเพื่อไปเอารังผึ้งออกมา ช่วงที่เขาถอดเสื้อว่ายน้ำในแม่น้ำ และช่วงที่เขาลงแรงผ่าฟืน

"ผมไม่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาก่อน และตอนนี้ผมเผยชีวิตประจำวันของผม ทิวทัศน์ในชนบทให้ทุกคนได้เห็น นั่นเป็นสิ่งที่ผู้คนสนใจกัน" หม่าเผย "แน่นอนว่าหลายคนสงสัยว่าผมอาจกำลังขายน้ำผึ้ง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจติดต่อมา เพื่อบอกว่าอยากซื้อสินค้าของผม"

เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมส่วนใหญ่ในจีน ซึ่งผู้คนที่นี่นิยมเงินสดน้อยลงเรื่อยๆ คำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของหม่าสามารถชำระได้อย่างสะดวกผ่านแอพพลิเคชั่นอย่าง "วีแชท" และ "อาลีเพย์"

หม่าบอกว่า ปัจจุบันเขามียอดขายน้ำผึ้งระหว่าง 2 ล้านถึง 3 ล้านหยวนในแต่ละปี เช่นเดียวกับมันเทศแห้งและน้ำตาลทรายแดง

"ตอนผมยังวัยรุ่น พวกเรามีฐานะยากจน" หม่าย้อนความหลัง "เวลาไปโรงเรียน ผมเคยชื่นชมเด็กคนอื่นๆ ที่พกเงินมาด้วย เพราะผมไม่เคยมีเงินติดตัวแม้แต่หยวนเดียว"

จนวันนี้ หม่าขับรถบีเอ็มดับเบิลยูแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคาประมาณ 760,000 หยวน หรือราว 3.34 ล้านบาท และยังมีเงินไปลงทุนสร้างที่พักขนาดเล็กแบบเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่ง

"การใช้โต่วอินเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต" เจ้าของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงผึ้งเผย "ปัจจุบัน ผมสามารถซื้อทุกอย่างที่ครอบครัวผมต้องการ ผมช่วยเหลือชาวบ้านคนอื่นๆ ให้ขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้เช่นกัน ทั้งหมดคือผลประโยชน์จากเศรษฐกิจท้องถิ่น"

157935919097

ในจีน มีประชาชนราว 847 ล้านคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ดังนั้นแอพพลิเคชั่นออนไลน์จึงมีบทบาทสำคัญมากต่อความสำเร็จของหม่า

“มันเป็นความก้าวหน้า” หม่า เจี้ยนชุน พูดถึงลูกชายของเขาอย่างปลาบปลื้ม “คนสูงอายุอย่างเรารู้สึกตื้นตันใจ รายได้ที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้เราสามารถปรับปรุงบ้านทั้งหลังได้เลย”

ข้อมูลจาก ดีลอยท์ บริษัทตรวจสอบบัญชีของสหรัฐ ระบุว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับการถ่ายทอดสดคลิปวิดีโอผ่านโลกออนไลน์และเพื่อมีส่วนร่วมในเทรนด์นี้ "ไบท์แดนซ์" บริษัทแม่ของโต่วอิน เผยว่า ได้จัดการอบรมเกษตรกร 26,000 คนให้เข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จากการทำคลิปวิดีโออย่างชำนาญ

นอกจากโต่วอินแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่คล้ายกัน รวมถึง "ไคว่โฉ่ว" (Kuaishou)และ "อี้จื่อป๋อ" (Yizhibo)

ปีที่แล้ว เถาเป่า แอพพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซยอดนิยมในจีนของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี "อาลีบาบา" เปิดโครงการที่ทำให้เกษตรกรเห็นถึงวิธีผันตัวเป็นผู้จัดรายการไลฟ์สตรีม ในความพยายามเพื่อช่วยให้พวกเขามีรายได้เพิ่ม

ข้อมูลของทางการจีนบ่งชี้ว่า จำนวนคนที่ใช้ชีวิตใต้เส้นความยากจนในชนบททั่วประเทศลดลงอย่างมากจาก 700 ล้านคนในปี 2522 เหลือเพียง 16.6 ล้านคนในปี 2561

อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรที่ลดลงในพื้นที่ชนบทยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะว่าชาวจีนจำนวนมากแห่เดินทางเข้าเมืองใหญ่เพื่อไปหางานที่มีรายได้ดีกว่า

"เราต้องการเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหนุ่มสาวได้เห็นว่า การเปิดธุรกิจและมีรายได้ดีในพื้นที่ชนบทนั้นเป็นเรื่องเป็นไปได้" หม่า กงซัวะ ซึ่งจบการศึกษาปริญญาตรีเผย "เราหวังว่าจะมีคนกลับมาบ้านเกิดมากขึ้น และเมื่อนั้น หมู่บ้านต่างๆ ก็จะกลับมามีชีวิตและเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองได้"

ที่มา : เรื่องและภาพจากเอเอฟพี

หมายเหตุ : บทความนี้มาจากคอลัมน์ไร้พรมแดน โดย ภานุพงศ์ วัฒนเสรีกุล ในเซ็คชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มกราคม 2563