ตั้ง 2 อนุ ศึกษาแก้รธน.-ประชาสัมพันธ์ "พีระพันธุ์" บอกเวทีรับฟัง อย่าชี้นำ

ตั้ง 2 อนุ ศึกษาแก้รธน.-ประชาสัมพันธ์ "พีระพันธุ์" บอกเวทีรับฟัง อย่าชี้นำ

กมธ.แก้ รธน. มติตั้ง 2 อนุ ศึกษาแก้รธน.-ประชาสัมพันธ์ "พีระพันธุ์" บอกเวทีรับฟัง อย่าชี้นำ หวั่นเป็นชนวนความขัดแย้ง มีงบ 5 ล้านบาทให้บริหารจัดการ

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์แและแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม นัดที่ 3 เพื่อพิจารณาแนวทางการทำงานของกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว กรรมาธิการฯ ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางการทำงาน โดยมีข้อสรุปเป็นมติสำคัญ คือ ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ จำนวน 2 คณะ คือ 1.คณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการฯ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งได้นัดประชุมนัดแรกวันที่ 21 ม.ค. เวลา 09.30 น. และ 2.คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้ นายวัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการฯ โควตาพรรคฝ่ายค้าน เป็นประธาน และนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 23 ม.ค. เวลา 15.00น.

ขณะที่รายละเอียดอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมได้ยกหารือในสาระสำคัญ อาทิ งบประมาณที่กรรมาธิการได้รับเพื่อดำเนินการมีจำนวนรวม 5 ล้านบาท ส่วนแนวทางทางการรับฟังความเห็นนั้น กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอและสรุปสาระสำคัญได้ว่า ต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนสังคม ต่อปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญ และต้องประชาสัมพันธ์การทำงาน, ผลการศึกษาให้สาธารณะรับทราบเป็นระยะ

โดย นายพีระพันธุ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการหารือว่า การรับฟังความเห็นของกรรมาธิการฯ ต้องระวังไม่ให้เกิดชนวนความขัดแย้ง และต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่ชี้นำความเห็น เพราะรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพ และส่วนของรูปแบบการบริหารการปกครอง โดยที่ผ่านมาประชาชนรับทราบเฉพาะส่วนการบริหารการปกครอง ดังนั้น หากสามารถทำงานเพื่อสะท้อนมุมมองของประชาชนในการสร้างหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไข หลังประกาศใช้ไม่นาน ดังนั้นขอให้กรรมาธิการฯ รับฟังความเห็นที่แตกต่าง พร้อมยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติ เพราะหากกังวลตั้งแต่เริ่มแรกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความขัดแย้ง อาจทำให้งานไม่คืบหน้า ส่วนการรับฟังความเห็น เชื่อว่าคณะโฆษกของกรรมาธิการฯ ต้องทำแนวทางที่สอดคล้องกับการแสดงความเห็นของ ส.ส.ที่ได้อภิปรายในที่ประชุม