หนี้ครัวเรือน 'ระเบิดเวลา' เศรษฐกิจปี2563

หนี้ครัวเรือน 'ระเบิดเวลา' เศรษฐกิจปี2563

‘เทคโนโลยี’กำลังกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล หากไม่มีวินัยทางการเงินที่ดี ปัญหาการเงินส่วนบุคคลดังกล่าวอาจเป็นปัญหาระดับชาติหรือที่เรียกว่า‘หนี้ครัวเรือน'และเป็นความท้าทายการบริหารจัดการเศรษฐกิจปี2563

157925167368 เศรษฐกิจปี2563 กำลังถูกท้าทายจาก‘เทคโนโลยี’ที่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล เพราะความสะดวกและง่ายในการทำธุรกรรมไม่ว่าจะกู้ยืม กดถอน หรือโอนจ่ายก็ตาม กับดักนี้มีสิ่งล่อคือเงื่อนไขโปรดีโปรแรง หากไม่มีวินัยทางการเงินที่ดี ปัญหาการเงินส่วนบุคคลดังกล่าวอาจเป็นปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ที่อาจขยายวงเป็นปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติ ซึ่งกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากหน่วยเศรษฐกิจของประเทศอย่าง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ในฐานะโฆษกสำนักงานฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นส่วนหนึ่งของรายงานภาวะสังคม ซึ่งเผยแพร่เป็นประจำทุกไตรมาส สำหรับหนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสอง ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว5.8%  เป็นอัตราที่ชะลอลงจาก6.3% ในไตรมาสก่อน

เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Households debt to GDP) พบว่ามีแนวโน้มทรงตัว จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี 2558 ที่80.8%  และค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆในปี 2559 ที่ 79.3% ต่อเนื่องมาถึงปี 2560 ที่ 78.05%  ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เป็นปัจจุบันที่สุดอยู่ที่ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 78.7% ซึ่งจะพบว่าวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรและเพื่อดำเนินธุรกิจ

157925184257 จากรายงานนโยบายการเงินเดือนธ.ค. 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ระบุว่า ในไตรมาส 2 ปี 2562  สัดส่วนสูงถึง 58.8% ของหนี้สินครัวเรือนไทยทั้งหมดเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ยานยนต์ และเพื่อประกอบธุรกิจ  ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วน41.5 %ของสินเชื่อครัวเรือนทั้งหมด

ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังคงทรงตัว แต่คุณภาพสินเชื่อบางประเภทจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส3 ปี 2562คิดเป็นสัดส่วน2.81% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน2.74% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยคุณภาพสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และบัตรเครดิตอยู่ในระดับที่ต้องติดตาม

สศช.ระบุอีกว่า สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นผลจากพฤติกรรมของทั้งผู้ปล่อยกู้และผู้กู้ เพราะผู้ปล่อยกู้มีการแข่งขันในระดับสูงทั้งตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อตลาดรถยนต์ นำไปสู่การเสาะหาผู้กู้ในกลุ่มผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ด้อยลงเรื่อย ๆ ผ่านการออกมาตรการส่งเสริมการขายต่าง ๆ (Promotions) เช่น การผ่อนชำระสินค้าโดยใช้บัตรเครดิตด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาก่อหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น

    ด้านพฤติกรรมของผู้กู้ สศช.พบว่า มีการออมที่น้อยทำให้ต้องเป็นหนี้ในระดับสูงและใช้เวลาผ่อนชำระนาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การซื้อสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้นผ่านการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กระตุ้นการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งหากผู้กู้ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สถานการณ์หนี้ครัวเรือนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในภาพรวม

157925187743 ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน โฆษกสศช.ย้ำว่าและได้ดำเนินมาตรการสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรการการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเชิงรุกแบบเน้นกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มอาชีวศึกษา กลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มเกษตรกร สอดคล้องกับผลการศึกษาโครงสร้างของผู้ก่อหนี้และหนี้เสียของไทยที่พบว่า คนไทยในกลุ่มวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้มากขึ้นและมีหนี้เสียมากขึ้น

มาตรการการกำกับดูแลให้เกิดการเป็นหนี้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านผู้ก่อหนี้และผู้ปล่อยกู้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อหลายประเภท เช่น หลักเกณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หลักเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) การศึกษาการกำหนดมาตรฐานการคำนวณภาระหนี้รวมต่อรายได้ (DSR) และ 

มาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ โครงการปรับโครงสร้างหนี้และคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ของธปท. การพักชำระหนี้เงินต้นของลูกหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ของธนาคารออมสิน

จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประจำเดือนธ.ค. 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นั้น สศช.เห็นว่าส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน และอาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวลนั้น

หากพิจารณาจากข้อมูลแล้วจะพบว่าปัญหานี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มลดลงแต่หากพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้ง่ายและเร็วเช่นนี้ปัญหาที่ดูเหมือนจะคลี่คลายอาจกลายเป็นฉนวนระเบิดเศรษฐกิจลูกใหม่ได้ในอนาคต