'หญิงหน่อย' แนะ รัฐเติมเงินในกระเป๋าเกษตรกร

'หญิงหน่อย' แนะ รัฐเติมเงินในกระเป๋าเกษตรกร

"สุดารัตน์" แนะ รัฐเติมเงินในกระเป๋าเกษตรกร ไม่ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้แย่ลง แก้ไขปัญหาการทุจริต

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan เสนอแนะมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับรัฐบาล โดยเนื้อหาระบุว่า...

ได้ทราบจากข่าวว่าวันนี้ รองนายกฯ ประวิตร จะนั่งหัวโต๊ะประชุมเรื่องแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จึงจะขอฝากแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้จะไปซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้แย่ลง เพราะเกษตรกรซึ่งถือเป็นกำลังซื้อหลัก จะยากจนมากขึ้น จากปัญหาภัยแล้งซึ่งเกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำต่อเนื่อง มาตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขจึงมี 2 มิติ คือ

1) การแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยแล้ง ด้วยการหาวิธี #เติมเงินในกระเป๋า ให้กับเกษตรกร ในช่วงที่ไม่มีรายได้จากการเพาะปลูก เพราะปัญหาภัยแล้ง โดย

1.1) เร่งจ่ายเงิน "ชดเชยภัยแล้ง" ให้กับเกษตรกร ตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรมีทุนไปประกอบอาชีพอื่น ในระหว่างที่รอฤดูฝน

1.2) จัดสรรงบประมาณตรงไปที่ กองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นค่าแรงให้เกษตรกรในหมู่บ้าน ทำการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ในหมู่บ้านและไร่นา เป็นการทำให้เกษตรกรมีรายได้ ในระหว่างที่ปลูกพืชผลทางการเกษตรไม่ได้ และยังทำให้ได้สระน้ำไว้กักเก็บน้ำในฤดูฝนอีกด้วย

1.3) เร่งจัดทำแผนโซนนิ่งการเพาะปลูก เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนการผลิต ไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และอากาศ รวมทั้งเป็นพืชที่ขายได้ราคาเพื่อสร้างรายได้ที่ยังยืนให้เกษตรกร มิใช่การแก้ไขปัญหาแบบ #ง่ายๆลวกๆ อย่างที่กำลังทำอยู่ "ไม่มีน้ำ ก็ห้ามเกษตรกรเพาะปลูก" โดยไม่ได้หาอาชีพ หรือรายได้อะไรให้เขา เล่นบังคับอย่างเดียว โดยไม่ช่วยเหลือ ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญทุกข์อย่างเดียวดาย

2) การแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก โดย

2.1)รัฐบาลต้องทำ "แผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำ" ที่มีกรอบระยะเวลาและแผนงานที่ชัดเจนเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งในข้อเท็จจริงประเทศไทยมีแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว ซึ่งคิดมาตั้งแต่สมัยนายกทักษิณ และจะเริ่มทำโครงการในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ แต่หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ทำการรัฐประหารก็ยกเลิกโครงการนี้ ซึ่งถ้าไม่ยกเลิก ป่านนี้หลายพื้นที่คงได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาแบบ "ไฟไหม้ฟาง" พอปัญหาเกิด ก็ค่อยมาแก้ไข อย่างเช่นในปัจจุบันเพิ่งมาเร่งขุดบ่อบาดาล ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาไม่ได้มาก เพราะไม่เพียงพอ และไม่ทันกับเวลา

157924309141

2.2) รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการทุจริต เพราะโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตมากมายหลายแห่งปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่าไม่มีการขุดลอกจริง มีเพียงการเอาแม็คโครไปขุดเพียงเล็กน้อย ซึ่งตรวจสอบได้ยากเนื่องจากไปขุดลอกในหน้าน้ำ ที่มีน้ำเต็มแหล่งน้ำ ซึ่งปกติเขาจะขุดลอกกันในหน้าแล้ง ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยแล้ง สามารถทุเลาเบาบางลงได้ หากรัฐบาลมีความ "ตั้งใจจริง" และมีความ "จริงใจ" ในการแก้ไขปัญหา

ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือรัฐบาลต้องเร่ง #เติมเงินในกระเป๋า ให้กับเกษตรกร ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบซ้ำเติมต่อปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก และต้องกำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหา "ทุจริต" ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน อย่างที่มีข่าวปรากฎมาก่อนหน้านี้

157924311690