'อลงกรณ์' ปัดฝุ่นผันน้ำ 'สตึงมนัม' จากกัมพูชา ป้อน EEC

'อลงกรณ์' ปัดฝุ่นผันน้ำ 'สตึงมนัม' จากกัมพูชา ป้อน EEC

"อลงกรณ์" ลงพื้นที่ติดตามภัยแล้งภาคตะวันออก กำชับให้ใช้น้ำตามแผน 6 + 3 เผื่อฝนทิ้งช่วงถึงเดือนกรกฎาคม เผยต้องทบทวนโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ จากแม่น้ำ สตึงมนัม ประเทศกัมพูชา มารองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม EEC

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมชลประทานลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี โดยกล่าวว่า รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ขาดน้ำทั้งในภาคการอุปโภคบริโภคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกถึงปัจจุบัน (17 ม.ค.) มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 671 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 42% ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 542 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 50% ของความจุอ่าง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 89% ซึ่งต้องตัดการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงสายหลักออกไป เนื่องจากค่าความเค็มสูงเกินค่ามาตรฐานและไม่สามารถนำน้ำจากคลองพระยาไชยานุชิต มาใช้ได้ เนื่องจากไม่มีน้ำ

นายอลงกรณ์ กำชับถึงแผนการจัดการน้ำให้เพียงพอเผื่อไปถึงฝนทิ้งช่วง 3 เดือน คือเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าน้ำต้นทุนในภาคตะวันออกนั้นมีเหลืออยู่จำกัด ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดเข็มขัดตามแผน ปัจจุบันมีน้ำต้นทุนรวมกันอยู่ราว 1540 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องบริหารให้พอภายใน 6 เดือน ในขณะที่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนของมาตรการรองรับวิกฤต ขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง บริษัท อีสท์วอเตอร์ ได้ดำเนินการเชื่อมท่อจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพื่อลดการสูญเสียน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำเพื่อการเกษตรบริเวณท้ายอ่างประแสร์ ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง เพื่อมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีได้กว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังหาแหล่งน้ำดิบจากบ่อดินเอกชน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้กว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือไปยังการนิคมอุตสาหกรรม หรือ กนอ. เพื่อให้ทุกหน่วยอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลง 10%

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างโครงการเมกะโปรเจค ในการผันน้ำมาเติมน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อใช้ในการขยายอุตสาหกรรม โดยอาจต้องมีการทบทวน โครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา จำนวน 300 ล้านลูกบากศ์เมตรต่อปี โดยกรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กับภาคอุตสาหกรรม ในกรณีการเกิดขึ้นมาของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ในอีก 17 ปีข้างหน้า (2580) พบว่า จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านลูกบากศ์เมตร แต่ถ้าพิจารณาระยะสั้นกว่านั้น คือในอีก 7 ปีข้างหน้า (2570) จะมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 500 ล้านลูกบากศ์เมตร

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ในทุกภูมิภาคต่างมีโครงการผันน้ำจากแหล่งอื่นมาเติมน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผันน้ำจากแม่น้ำโขง ภาคเหนือ ผันน้ำจากลำน้ำยวมเข้ามาเติมเขื่อนภูมิพล ซึ่งตนได้ลงมาดูแลเรื่องนี้ก็จะลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดผลักดันโครงการดังกล่าว โดยวันที่ 24 ม.ค.นี้จะเดินทางไปดูสถานการณ์น้ำที่จังหวัดขอนแก่น และ สิ้นเดือน ม.ค. ก็จะไปดูในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ