มองสิทธิแม่ลูกอ่อนของไทยผ่านกฎหมายใหม่แคลิฟอร์เนีย

มองสิทธิแม่ลูกอ่อนของไทยผ่านกฎหมายใหม่แคลิฟอร์เนีย

เรียนรู้เขา เรียนรู้เรา ส่องมาตรการคุ้มครองแม่ที่ให้นมบุตรของมณฑลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มมาตรฐานมากขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องกฎหมายแรงงาน หรือพื้นที่ปั๊มนมสำหรับแม่ รวมถึงการกำหนดเวลาพักของแม่ที่ต้องปั๊มนม

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการรณรงค์เรื่องการให้นมบุตร เป็นนโยบายที่ทางภาครัฐบาลรวมถึงกระกรวงสาธารณสุขได้พยายามผลักดันอย่างจริงจัง

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย "นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก" หรือแม้แต่การรณรงค์จาก UNICEF ให้แม่ควรให้นมแม่แก่บุตรจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่า เป็นต้น ซึ่งการรณรงค์รวมถึงนโยบายต่างๆ นั้นมุ่งเน้นการเชิญชวนให้แม่ให้นมบุตรมากขึ้นและนานขึ้น แต่ไม่ได้มีการสนับสนุนในทางกฎหมาย

ในขณะที่ในประเทศสหรัฐ ก็มีการรณรงค์เรื่องการให้นมแม่แก่ทารกเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัตินั้น มลรัฐแคลิฟอร์เนียได้เพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองแม่ที่ให้นมบุตรมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมาตรการทางกฎหมายนั้น เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้ผ่านร่างกฎหมายแห่งวุฒิสภาข้อ 142 (Senate Bill 142 หรือ SB 142) ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกให้แก่แม่ปั๊มนมเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา และได้มีการลงนามให้ยกเป็นกฎหมายโดยผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย กาวิน นิวซัม เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2562 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่ง SB 142 นี้เป็นการแก้ไขมาตรา 1030, 1031, และ 1033 และเพิ่มมาตรา 1034 แก่ประมวลกฎหมายแคลิฟอร์เนีย (California Codes) ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ภายใต้กฎหมายใหม่ SB 142 นี้ได้แก้ไขมาตรา 1031 แห่งประมวลกฎหมายแคลิฟอร์เนียโดยกำหนดให้ผู้ว่าจ้างในแคลิฟอร์เนียมีหน้าที่ต้องจัดหาพื้นที่ส่วนตัวให้แม่ปั๊มนมสามารถปั๊มนมในเวลางานได้ โดยพื้นที่ที่ทางผู้ว่าจ้างจัดหาให้นี้จะต้องอยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานของลูกจ้างที่เป็นแม่ปั๊มนม นอกจากนี้ยังต้องเป็นที่ลับสายตา ให้ความเป็นส่วนตัว และปลอดการรบกวนใดๆ ในขณะที่ลูกจ้างกำลังใช้พื้นที่ปั๊มนมนี้ นอกจากนี้ มาตรา 1031(c) และ (d)ยังกำหนดให้พื้นที่สำหรับปั๊มนมจะต้องปลอดภัย สะอาด และปราศจากวัสดุหรือสารเคมีที่ต่อให้เกิดอันตรายหรือไอสารเคมีที่อาจปนเปื้อนน้ำนมที่ปั๊มผ่านทางอากาศ

พื้นที่สำหรับปั๊มนมจะต้องมีโต๊ะหรือพื้นผิวเคาน์เตอร์สำหรับวางเครื่องปั๊มนม และของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอื่น ต้องมีที่ให้นั่ง และมีปลั๊กไฟ หรือ อุปกรณ์ให้กำลังไฟฟ้าอื่นๆ ที่จำเป็นต่อเครื่องปั๊มนมไฟฟ้า หรือ การชาร์จแบตเตอร์รี่ของเครื่อง พื้นที่สำหรับปั๊มนมจำเป็นต้องมีอ่างล้างมือพร้อมก๊อกน้ำที่ใช้งานได้ พร้อมด้วยตู้เย็นหรือเครื่องทำความเย็นอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับการเก็บน้ำนมแม่ที่ปั๊มอีกด้วย 

หากที่ทำงานเป็นอาคารสำนักงานที่มีหลายสำนักงานหรือบริษัทอยู่ร่วมกัน นายจ้างของแต่ละสำนักงานสามารถตกลงให้มีพื้นที่ปั๊มนมที่ใช้ร่วมกันระหว่างหลายๆ สำนักงานได้ ตราบเท่าที่ยังอยู่ในอาคารเดียวกันตามมาตรา 1031(f)

ทั้งนี้กฎหมายนี้มีข้อยกเว้นสำหรับนายจ้างที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 50 คน ให้ไม่จำเป็นต้องจัดทำพื้นที่ปั๊มนมโดยเฉพาะได้ โดยนายจ้างสามารถอาศัยพื้นที่สำหรับพักรับประทานอาหาร หรือพื้นที่สันทนาการอื่นๆ ในสำนักงานเป็นพื้นที่ปั๊มนมได้เช่นกัน โดยพื้นที่นั้นจะต้องไม่ใช่ห้องน้ำการจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่าพื้นที่นั้นจะต้องมีกลอนสำหรับล็อกประตูเพื่อให้พนักงานที่เป็นแม่ปั๊มนมสามารถใช้พื้นที่นั้นระหว่างปั๊มนมด้วยความเป็นส่วนตัว ปลอดการรบกวนจากเพื่อนร่วมงานท่านอื่น ตามมาตรา 1031(h)และ (i)

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ยังรวมถึงข้อกำหนดให้นายจ้างจำเป็นต้องให้เวลาพักทำงานเพื่อการปั๊มนมที่เหมาะสม นอกเหนือไปจากการพักรับประทานอาหารอีกด้วย หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดเวลาพักทำงานเพื่อปั๊มนม หรือการจัดหาพื้นที่สำหรับปั๊มนมให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแม่ปั๊มนมแล้ว นายจ้างอาจถูกปรับจากคณะกรรมการแรงงานเป็นจำนวนเงิน $100 (ประมาณ 3,000 บาท) ต่อวัน ต่อความผิดหนึ่งกระทง อีกด้วย

เมื่อมองกลับมาที่กฎหมายแรงงานของประเทศไทยนั้น ไม่มีการพูดถึงในแง่ของสิทธิของแม่ปั๊มนม หากแต่เป็นการกล่าวโดยรวมในแง่ของเวลาพักระหว่างทำงาน โดยให้ลูกจ้างมีเวลาพักอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงต่อวันตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2562 ทั้งนี้ ไทยก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อสิทธิของแม่ลูกอ่อนเสียทีเดียว เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันนี้ได้แก้ไขมาตรา 41 โดยเพิ่มเติมวันลาคลอดบุตรของหญิงมีครรภ์จาก 90 วัน เป็น 98 วันซึ่งรวมถึงวันลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย โดยการจ่ายค่าจ้างในช่วงที่ลายังเป็นจำนวน 45 วันเช่นเดิม

และเมื่อเปรียบเทียบกับการลาคลอดบุตรของมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่ให้การคลอดบุตรตกอยู่ภายใต้การลาคลอดอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย (Pregnancy Disability Leave) ซึ่งนับรวมวันที่ลาเนื่องจากแพ้ท้อง คลอดลูก และอื่นๆ ได้ 16 สัปดาห์ โดยอาจได้รับเงินเดือนหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของสำนักงาน นอกจากนี้ หลังจากคลอดบุตรแล้วทั้งบิดาและมารดาสามารถลางานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพื่อดูแลบุตรแรกเกิดได้อีก 12 สัปดาห์นอกเหนือไปจากการลาคลอดเนื่องจากการเจ็บป่วยได้อีกตามพ.ร.บ.สิทธิแห่งครอบครัวของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้กฎหมายไทยจะมีกำหนดวันลาคลอดให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่ากฎหมายแรงงานและกฎหมายครอบครัวของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่กฎหมายแรงงานของไทยก็กำหนดจำนวนวันลาที่สำนักงานต้องจ่ายค่าแรงให้แก่ลูกจ้างไว้ถึง 45 วัน ในขณะที่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นนายจ้างอาจไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเลยก็เป็นได้หากมิได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น