'ค่าแรง-เทคโนโลยี' ปัจจัยกดดันนายจ้าง

'ค่าแรง-เทคโนโลยี' ปัจจัยกดดันนายจ้าง

เมื่อมาตรการปรับเพิ่มค่าแรง เป็นเรื่องที่เหล่านักการเมืองนำมาหาเสียง ขณะที่ปัจจุบันมีเรื่องของเทคโนโลยีที่รวมเข้ามาด้วย น่าแนอนว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อประกาศและดำเนินเข้าจริง กลายเป็นแรงกดดันผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับ และกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุด ที่มีผลไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่ในกลุ่มที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด โดย จ.ชลบุรี อยู่อันดับ 1 ร่วมกับ จ.ภูเก็ต มีค่าจ้างวันละ 336 บาท

อันดับ 2 จ.ระยอง วันละ 335 บาท ส่วน จ.ฉะเชิงเทราอยู่อันดับที่ 4 ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 330 บาท

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย มีการใช้รูปแบบของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีมาตั้งแต่ปี 2516 ที่ผ่านมา นักการเมืองมีการหาเสียงนำประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้ เช่น การปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด 300 บาทในปี 2555 และการเลือกตั้งในปี 2562 มีการหาเสียงปรับค่าจ้างประชารัฐเป็น 450 บาทต่อวัน ทำให้ในอนาคตพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้ค่าจ้างเป็นเครื่องมือหาเสียงซึ่งส่งผลกระทบในเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

การกำหนดแนวทางค่าจ้างขั้นต่ำเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาผลิตภาพแรงงานของไทย ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพแรงงานอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยแนวทางการขับเคลื่อนยกระดับแรงงาน เพื่อก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคตเป็นวาระแห่งชาติ จะต้องแยกค่าจ้างออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.ค่าจ้างอ้างอิง ให้ถือเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) กลไกให้ผ่านคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี โดยยึดถือหลักเกณฑ์ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 131 เช่น สภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถของนายจ้างและคุณภาพชีวิตของแรงงานตามอัตภาพ ไม่จำเป็นต้องปรับทุกปี หรือหากปรับควรเป็นไปตามสัดส่วนของเงินเฟ้อทั่วไปที่จะนำมาอ้างอิง ซึ่งแรงงานแรกเข้ากึ่งไร้ทักษะ รวมถึงแรงงานต่างด้าวให้มาใช้ค่าจ้างอัตรานี้ โดยการดูแลให้อยู่ในคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาค

2.ค่าจ้างตามวุฒิการศึกษาหรือค่าจ้างทักษะ (Skill Wage) ซึ่งอาจใช้วุฒิการศึกษา เช่น ระดับประถม 6, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ตอนปลาย, ระดับ ปวช.-ปวส. ระดับปริญญา หรือมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแยกแต่ละอาชีพ เป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้าง ซึ่งจะเป็นอัตราแรกเข้า ส่วนการปรับประจำปีให้เป็นแบบลอยตัวขึ้นอยู่กับนายจ้างและลูกจ้าง การใช้ค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา จะทำให้แยกแรงงานต่างด้าวออกไปจากระบบ เป็นแรงงานตามวุฒิการศึกษาหรือค่าจ้างทักษะ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจน

3.กลไกค่าจ้างควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ภาครัฐเป็นผู้กำกับการเมือง และนโยบายหาเสียงไม่ควรนำมาใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน กระทรวงแรงงานซึ่งทราบข้อมูลและผลกระทบเหล่านี้ดีควรจะมีมาตรการในการป้องกันได้อย่างไร

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นภาคส่วนสำคัญที่มีมูลค่าในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 39.2% มีจำนวนแรงงาน 6.3-6.51 ล้านคน ซึ่งอาจมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา ภาคส่วนนี้มีความตระหนักรู้และมีความพร้อมมากที่สุด ในการพัฒนารองรับการปรับใช้เทคโนโลยี ซึ่งมีปัจจัยเร่งที่สำคัญมาจากการขาดแคลนแรงงานและผลิตภาพแรงงานต่ำ

อีกทั้งอัตราค่าจ้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้มีการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีเร็วขึ้น เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างชัดเจน แต่ความท้าทาย คือ สถานประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งแนวโน้มการปรับใช้เทคโนโลยีของผู้ประกอบการยังคงมีช่วงรอยต่อของเวลา ทำให้ยังสามารถก้าวผ่านได้หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำ