วัดใจสมาชิกอาเซียน‘ปลื้ม-ไม่ปลื้ม’มหาอำนาจ

วัดใจสมาชิกอาเซียน‘ปลื้ม-ไม่ปลื้ม’มหาอำนาจ

ในช่วงที่สหรัฐกับจีนเป็นปรปักษ์กันมากขึ้นทุกที บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พลอยมีความเห็นแตกต่างกันไปด้วย สร้างความท้าทายในภูมิภาคที่พยายามสร้างความสามัคคี เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิว รายงานว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็นแค่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังผงาด แต่ทำเลของภูมิภาคที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันจึงเป็นภูมิภาคสำคัญทางยุทธศาสตร์ ให้สองอริอย่างสหรัฐและจีนต้องหมายตา

สถาบันไอเซียสยูโซฟอิสฮัคสำรวจ “สถานะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2563” จากผู้รู้ 1,308 คน ในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 73% กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้แย่งชิงของมหาอำนาจ สมาชิกอาเซียนอาจกลายเป็นตัวแทนไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 62% จากการสำรวจเมื่อปีก่อน

ผลสำรวจฉายภาพการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีน และผลต่อความภักดีในภูมิภาค ผู้ให้ข้อมูลค่อนข้างมีความเห็นต่างกันว่าอาเซียนควรเป็นพันธมิตรกับใครหากเลือกได้เพียงประเทศเดียว โดย 54% เลือกสหรัฐ อีก 46% เลือกจีน

ในบรรดา 7 ประเทศจาก 10 ประเทศอาเซียนที่เลือกจีน ชาวบรูไนชื่นชอบจีน 69% กัมพูชา 58% อินโดนีเซีย 52% ลาว 74% มาเลเซีย 61% เมียนมา 62% ไทย 52%

157922046512

ส่วนสหรัฐได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ให้ข้อมูลในฟิลิปปินส์และเวียดนาม ที่ 83% และ 86% ตามลำดับ ตามด้วยสิงคโปร์ 61%

การที่ชาวฟิลิปปินส์และเวียดนามสนับสนุนสหรัฐมาก ส่วนหนึี่งเป็นเพราะสองประเทศนี้มีข้อพิพาทน่านน้ำในทะเลจีนใต้กับปักกิ่ง

“บทเรียนที่ได้จากผลสำรวจความคิดเห็นที่แบ่งขั้วเช่นนี้ชัดเจนแล้วว่า อาเซียนจะต้องทำทุกวิถีทางที่ทำได้ หลีกเลี่ยงการต้องเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งระหว่างสหรัฐกับจีน หรือแม้แต่นำตัวเลือกนั้นมาพิจารณา ถ้าอาเซียนเลือกข้าง โอกาสและอำนาจต่อรองจะลดลง การเลือกคบทั้งสองฝ่าย รัฐสมาชิกอาเซียนจะใช้หน่วยงานของตนได้อย่างเป็นอิสระ และส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติได้” หวง ทิ ฮา นักวิจัยจากสถาบันไอเซียสยูโซฟอิสฮัคกล่าว

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังยืดเยื้อ ในประเด็นนี้

ผู้ให้ข้อมูล 64% กล่าวว่า สงครามการค้าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในความเป็นจริงประเทศที่พึี่งพาการส่งออกอย่างสิงคโปร์และไทยต่างเจอกับเศรษฐกิจซบเซาไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่มหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น เข้ามาสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้นานแล้ว ผลสำรวจยังตอกย้ำถึงอิทธิพลของจีนที่กำลังเติบโตขึ้นทุกที 79% มองว่า จีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นจาก 73% ในการสำรวจปี 2562

อย่างไรก็ตาม 72% ที่กล่าวว่าจีนมีอิทธิพลก็ยังไม่ปักใจนัก “อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนรู้สึกได้ชัดก็จริง แต่ยังไม่รับรู้ชัดเจนทั้งภูมิภาค”

ที่เห็นชัดเจนคือผลสำรวจเผยว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในโครงการสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) 64% กล่าวว่า เชื่อมั่นเล็กน้อยหรือไม่เชื่อมั่นแนวทางที่จีนเสนอสินเชื่อ

ปีก่อนจีนให้คำมั่นว่าจะทำให้บีอาร์ไอโปร่งใส ปลอดทุจริตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เชื่อในคำมั่นนี้ ความเชื่อมั่นในโครงการยังต่ำเหมือนเดิม

ทั้งนี้ ผลสำรวจจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 12 พ.ย.-1 ธ.ค. ผู้ให้ข้อมูลมาจากภาครัฐ 40% นักวิชาการ กลุ่มคลังสมอง และสถาบันวิจัย 36% ที่เหลือ 24% มาจากภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อสารมวลชน