สังคายนา 'เกณฑ์ลงทุน' ธุรกิจประกัน สู้มรสุม 'ดอกเบี้ยต่ำ-บาทแข็ง'

สังคายนา 'เกณฑ์ลงทุน' ธุรกิจประกัน สู้มรสุม 'ดอกเบี้ยต่ำ-บาทแข็ง'

คปภ.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ต่อร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4)พ.ศ....

มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน”ของธุรกิจประกันภัยไทย สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยจะเปิดกว้างให้บริษัทประกันภัยสามารถ “ลงทุนได้หลากหลาย” สอดคล้องกับลักษณะของ “ความเสี่ยง”และ “ภาระผูกพัน” ที่มีต่อผู้เอาประกันภัย มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ

1. เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศลด “ต่ำลง” อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย “มีผลตอบแทนไม่เพียงพอ” ต่อภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ลดการกระจุกตัวในการลงทุนภายในประเทศ เพิ่มทางเลือกในการหาผลตอบแทนของบริษัทประกันภัย และแก้ปัญหาการบริหารสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับหนี้สินและภาระผูกผันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย (Asset-Liability Management) โดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตที่มีภาระผูกพันต่อสัญญาประกันภัยระยะยาว

สำหรับการป้องกันปัญหา “เงินไทยไหลออกนอกประเทศ” สำนักงาน คปภ. ได้ “จำกัด”จำนวนเงินลงทุนในต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งในรูปแบบการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด รวมทั้งแต่ละประเภทของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนนอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน เช่น การดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง (RBC)การบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM)และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย (ORSA)เป็นต้น

2. เพิ่มสัดส่วนและเพิ่มประเภทการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ใบทรัสต์ของกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการหาผลตอบแทนของบริษัทประกันภัย

3. เพิ่มประเภทการลงทุนของบริษัทประกันภัย โดยให้บริษัทถือตราสารทุนในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการ “สถานพยาบาล” ในประเทศไทย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long term care)ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการประกันสุขภาพและรองรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย (Aging Society)

4. เพิ่มประเภทการลงทุนของบริษัทประกันภัย โดยให้บริษัทถือตราสารทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจ “เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย”  ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุน ยกระดับ และสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจประกันภัย โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัยให้ดียิ่งขึ้น

  "คปภ.หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้สามารถบริหารจัดการปัญหาที่เกิดจากดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินบาทแข็ง โดยสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น” 

  สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคปภ. กล่าว 

ด้านแหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจประกันภับ บอกว่า ประกาศดังกล่าว จะมีการขยายเพดานการลงทุนต่างประเทศเป็น  25% จากเดิม สัดส่วน15%  แต่ภาคธุรกิจประกัน ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมขยายเพดานการลงทุนดังกล่าวให้เทียบเท่ากับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสัดส่วน 40% เนื่องจากธุรกิจประกันมีศักยภาพและมีเม็ดเงินลงทุนอยู่มาก โดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิตขนาดใหญ่

อีกทั้งขยายสัดส่วนการลงทุนกองทรัสต์ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนอินฟราฟันด์ (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ทั้งในและต่างประเทศเป็น25% จากปัจจุบันมีสัดส่วนในประเทศ 20%และต่างประเทศ5%  ส่วนการลงทุนประเภทใหม่ เช่น ธุรกิจอินชัวร์เทค สตาร์ทอัพ และกิจการดูแลผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล  สัดส่วนถือหุ้นในกิจการเหล่านี้ควรอยู่ที่ระดับ30-40% จากปัจจุบัน 15%

 “วรางค์ ไชยวรรณ” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต มองว่า สัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศที่ระดับ25% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศประมาณ 9%  และอยู่ในระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มในหลายสินทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แม้คปภ.จะขยายเกณฑ์ลงทุนต่างประเทศ แต่กฎการดำรงเงินกองทุนแต่สินทรัพย์เสี่ยงในปัจจุบัน ยังไม่เอื้อต่อ จึงคิดว่าสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศคงเปลี่ยนแปลงจากเดิมไม่มากนัก”

 “เดวิช โครูนิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยพาณิชย์ ประกันชีวิต  บอกว่า  การขยายเพดานลงทุนต่างประเทศ   ถือเป็นเรื่องที่ดีในภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ ที่บริษัทสามารถหาผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้น  ขณะนี้กำลังให้ทีมการลงทุนของบริษัทพิจารณาการลงทุนใหม่ๆในต่างประเทศที่เหมาะสมควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงด้วย