'บอนด์ยิลด์' ร่วงทุบสถิติ 'สถาบัน-แบงก์' แห่ซื้อ สร้างปรากฎสร้าง 'ยูเคิร์ฟ'

'บอนด์ยิลด์' ร่วงทุบสถิติ 'สถาบัน-แบงก์' แห่ซื้อ สร้างปรากฎสร้าง 'ยูเคิร์ฟ'

“บอนด์ยิลด์ไทย” ร่วงต่อเนื่องทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายรุ่น ส่งผลเกิดภาวะ ‘ยูเคิร์ฟ’ สะท้อนภาพผลตอบแทนระยะสั้นถึงกลางต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไม่สดใส กนง.ส่อลดดอกเบี้ยเพิ่ม ด้าน ‘ไทยบีเอ็มเอ’ชี้บอนด์ยิลด์ระยะสั้นส่อร่วงต่อ

ผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) รัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงไปทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยรุ่นอายุ 2 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.10% รุ่น 3 ปี 1.14% รุ่น 5 ปี 1.16% และ รุ่น 10 ปี 1.36%  โดยแรงซื้อส่วนใหญ่มาจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันไทยและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 

ขณะ ผลตอบแทนล่าสุดวานนี้(16ม.ค.) รุ่นอายุ 3 เดือน อยู่ที่ 1.11% รุ่น 6 เดือน 1.14% รุ่น 1 ปี 1.15% รุ่น 2 ปี 1.13% รุ่น 3 ปี 1.19% รุ่น 4 ปี 1.22% รุ่น 5 ปี 1.24% รุ่น 6 ปี 1.26% รุ่น 7 ปี 1.28% รุ่น 8 ปี 1.35% รุ่น 9 ปี 1.41% และ รุ่น 10 ปี 1.42%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า แรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในตลาดบอนด์ไทย ส่งผลให้ผลตอบแทนของบอนด์ไทยลดลงในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะบอนด์ยิลด์ระยะสั้นถึงระยะกลาง ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% สร้างปรากฎการณ์ใหม่ที่เรียกว่าภาวะ “ยูเคิร์ฟ”

“เราเคยเจอปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า ‘เจ เคิร์ฟ’ ซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงผลตอบแทนของบอนด์ระยะสั้นต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย แต่ตอนนี้เรากำลังเผชิญภาวะใหม่ที่เรียกว่า ‘ยู เคิร์ฟ’ เพราะไม่ใช่แค่บอนด์ระยะสั้นเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย แต่บอนด์ระยะกลางรุ่นอายุ 3-7 ปี ก็ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย”

นายนริศ กล่าวว่า ภาวะดังกล่าวสะท้อนว่านักลงทุนกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงปิดรับความเสี่ยง(Risk off) หันมาเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นบอนด์ ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว โดยภาวะนี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้บอนด์ยิลด์ที่ต่ำลง ยังสร้างแรงกดดันต่อดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ด้วย เพราะเมื่อดอกเบี้ยตลาด(บอนด์ยิลด์) ต่ำลง ทำให้ภาคธุรกิจหันมาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามเพื่อดึงลูกค้าไว้ เมื่อดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงตามด้วย เพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) เอาไว้

1579184562100

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ หากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับบอนด์ยิลด์ของไทยที่ลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ผลตอบแทนบอนด์ตั้งแต่อายุ 1 เดือนถึง 5 ปี เริ่มต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย กดดันให้ กนง. ไม่น่าขยับดอกเบี้ยขึ้นได้ และมีโอกาสสูงที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง

เธอกล่าวว่า บอนด์ยิลด์ไทยที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักลงทุนสถาบันไทยและกลุ่มธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อพันธบัตรดังกล่าวจำนวนมาก  สาเหตุที่นักลงทุนกลุ่มนี้เข้าซื้อบอนด์จำนวนมาก เชื่อว่าเป็นเพราะมีเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มกองทุนและกลุ่มประกันจำนวนมากในช่วงปลายปี จึงทำให้มีการมาพักเงินในตลาดบอนด์ อย่างไรก็ตามหากทิศทางบอนด์ยิลด์ยังอยู่ระดับต่ำก็น่าจะส่งผลให้มีการโยกเงินออกบอนด์และทำให้บอนด์ยิลด์ขยับขึ้นได้บ้าง

ส่วนทิศทางบอนด์ยิลด์ไทยปี 2563 มีแนวโน้มชันขึ้น โดยบอนด์ยิลด์ระยะสั้นยังมีแนวโน้มลดลง เพราะหลายคนคาดว่ากนง.มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก ขณะที่บอนด์ยิลด์ระยะยาวคาดว่าจะทรงตัวในทิศทางขาลงในกรอบจำกัดแล้ว เพราะปัจจุบันอยู่ระดับต่ำมากแล้วและไม่น่าจะต่ำกว่านี้ได้ รวมถึงมีโอกาสขยับขึ้นในกรอบแคบเมื่อสงครามการค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยปี 2563 คาดว่ามีโอกาสที่เงินทุนจะไหลออกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันประมาณ 80,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ไหลออกราว 84,452 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และส่วนต่างผลตอบแทนที่แท้จริงของบอนด์ยิลด์ไทยกับสหรัฐฯที่ต่ำลงมาก รวมถึงพันธบัตรจีนที่จะถูกเพิ่มน้ำหนักใน GBI-EM index ในช่วงเดือนก.พ.ปี 2563 น่าจะส่งผลกระทบกับพันธบัตรไทยที่มีสัดส่วนอยู่ในดัชนีดังกล่าวที่ 9% ถูกปรับน้ำหนักลงเหลือ 2% โดยจะไหลออกในตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น 2%

นอกจากนี้คาดว่าเม็ดเงินต่างชาติปีนี้มีโอกาสที่จะไหลออกจากตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะปีที่ผ่านมาต่างชาติไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้นไปมากแล้ว จึงทำให้สถานะคงค้างเหลือน้อยลง โดยในปีที่ผ่านมาต่างชาติมีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาวจำนวน 52,456 ล้านบาท แต่ขายออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นกว่า 136,909 ล้านบาท และทำให้ ณ สิ้นปี 2562 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 991,779 ล้านบาท หรือเท่ากับ 10.49% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธปท. ซึ่งลดลงจาก 11.86% เมื่อปลายปีก่อนหน้า