ไทย-จีนผนึกความร่วมมือไฟฟ้า ส่ง ปตท.เจรจาต่อยอดธุรกิจ

ไทย-จีนผนึกความร่วมมือไฟฟ้า ส่ง ปตท.เจรจาต่อยอดธุรกิจ

ไทย-จีน เดินหน้าขยายความร่วมมือไฟฟ้า-เทคโนโลยีใหม่ ส่ง ปตท. เจรจาหาต่อยอดธุรกิจแอลเอ็นจี ร่วมส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ด้าน ราช กรุ๊ป ลุ้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุม THE FOURTH CHINA-THAILAND ENERGY WORKING GROUP ที่จัดขึ้น ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และฝั่งจีนมีรัฐมนตรีช่วย สำนักงานพลังงานแห่งชาติจีน เป็นผู้นำ โดยไทยและจีน ได้หารือกันถึงกรอบความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้า ปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ที่สิ้นสุดระยะเวลาไปตั้งแต่ปี2561 และยังไม่เคยมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแต่อย่างใด ซึ่งทางประเทศไทยยังไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากจีนได้ เนื่องจากไทยยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าในระดับสูงกว่า 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ โดยทางฝั่งจีนก็เข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ไทยและจีน จึงได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างกันทางด้านเทคนิคในเรื่องของพลังงานทดแทน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ซึ่งประเทศจีนเอง ก็มีความต้องการใช้ LNG ในปริมาณมาก และมีท่าเรือขนาดใหญ่ ขณะที่ไทย ก็มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการจัดหาและนำเข้า LNG อีกทั้งไทยก็มีเป้าหมายที่จะยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน (LNG HUB) จึงมองถึงโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างประโยชน์จากการซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง)ในอนาคต

157917801510

“จีน มีทิศทางการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น ก็มองว่าจะร่วมมือกันทำให้ synergy เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเสริมศักยภาพการแข่งขันธุรกิจเทรดดิ้ง LNG ร่วมกันอย่างไร รวมถึงลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนLNG ในอนาคตด้วย เรามีทั้งท่าเรือ จีนก็มีท่าเรือ ซึ่ง ปตท. ก็จะเข้ามาเทรดดิ้ง LNG ก็เป็นโอกาสความร่วมมือด้านหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้”

ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 หน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4 กำลังการผลิตติดตั้งหน่วยละ 1,180 เมกะวัตต์(รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,360 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของจีน ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)และรับรู้รายได้ในปี 2564 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเพิ่มจากการลงทุนในโครงการนี้อีก 236 เมกะวัตต์