อนาคตของโลกในกำมือคุณ

อนาคตของโลกในกำมือคุณ

มนุษย์จะทำอะไรได้บ้าง? เพื่อทำให้โลกใบนี้ ไม่แย่ไปกว่าเดิม ลองอ่านทัศนะของคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาค่อนชีวิต

 

"""""""""""""

ทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เตือนมานานแล้วว่า เป็นทศวรรษสุดท้ายแห่งความหวัง

หมายถึง โอกาสที่จะเบรคพฤติกรรมทำลายระบบนิเวศโลก แม้ว่า ณ ค.ศ.นี้ เราจะหันหลังยูเทิร์นกลับไปยังจุดปลอดภัยไม่ได้แล้ว เพราะเราได้ปล่อยคาร์บอนสะสมกันมามากเกินไป ทำให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์มากเกินไป แต่ก็ยังพอมีเวลาที่จะเปลี่ยนใจปรับตัวให้มนุษย์อยู่อาศัยต่อไปอย่างมีคุณภาพชีวิตได้

แต่เป็นเวลาที่จำกัดอย่างยิ่ง เป็นหน้าต่างของกาลเวลาที่กำลังปิดลง

ถ้ามวลมนุษยชาติได้ฟังคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และเริ่มปฏิบัติการในระดับแมสกันทันที เราก็คงได้มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ค่อยๆ เอื้อต่อการปรับตัว ลดละพฤติกรรมทำลายธรรมชาติ ควบคู่ไปกับคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการใหม่ๆ ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับชีวิตอื่นในโลกที่เกื้อกูลดูแลสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่ชีวิตเราได้ต่อไป

แต่เรา—เดอะเบบี้บูมเมอร์—ไม่ได้ทำ แค่โจทย์กระจอกอย่างมาตรการยกเลิกถุงก๊อบแก๊บห รือลดใช้รถยนต์ส่วนตัวในเมืองยังไม่ใส่ใจจะทำเลย โจทย์ยากกว่านี้ขออนุญาตไม่พูดถึง

ถึงวันนี้ เราเหลือเวลาแค่ 10 ปี ถ้าฮึดตั้งใจเปลี่ยนแปลงกันเต็มร้อยก็พอทำได้ แต่หมายความว่าต้องทำกันเต็มที่ ทุกระดับ นโยบายต้องมา โครงสร้างต้องเปลี่ยน รายละเอียดต้องมี อำนาจต้องกระจาย

เราไม่ควรจะต้องเอาเวลาที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดไปกับการแคมเปญต่อสู้ผู้มีอำนาจกำปั้นเหล็กหยิบมือหนึ่ง โน้มน้าวให้เหตุผล มันควรจะหมดโปรแคมเปญไปนานแล้ว แต่มันกลับเป็นสิ่งที่เรายังต้องทำกัน

วันก่อนฉันเจอนายธนาคารรุ่นซีเนียร์คนหนึ่งในงานสังสรรค์ นายหัวเราะเยาะคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ 

“เห็นบอกว่าน้ำจะท่วม ตั้งนานแล้วยังไม่เห็นเป็นไรเลย ฮ่ะๆๆ” 

ในขณะที่เกษตรกรต้องเผชิญกับระบบมรสุมที่กำลังพังลง รูปแบบฝนฟ้าเพี้ยนรุนแรงมากขึ้นทุกปีๆ จนวางแผนเพาะปลูกยากลำบากมาก อีกหลายเมืองในโลกต้องเจอกับพายุดุดัน น้ำท่วมไฟไหม้ผิดปกติ แต่คนจำนวนหนึ่งยังถูกห่อหุ้มอยู่ในอาคารติดแอร์ ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาวไปกับใครๆ

เป็นเสียอย่างนี้ แล้วจะไม่ให้เจน x-y-z โกรธรุ่นบูมเมอร์ได้อย่างไร

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ฉันถูกถามหลายครั้งมากว่า ทำงานสิ่งแวดล้อมอยู่ได้อย่างไร โดยไม่ท้อแท้สิ้นหวังหมดกำลังใจ ทีแรกฉันมักจะชวนให้ย้อนมองดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมที่ใหญ่มากๆ อาทิ การยกเลิกค้าทาสของอังกฤษทั่วราชอาณานิคมเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว กว่าสภาจะออกกฎหมายห้ามค้าทาส เครือข่ายประชาสังคมต้องใช้เวลาร่วม 100 ปีเพื่อผลักดัน เริ่มต้นจากกลุ่มแม่บ้านชาวคริสต์​นิกายเควกเกอร์ มันยาก มันใช้เวลานาน เพราะเป็นประเด็นที่ไม่เพียงแต่ต้องเปลี่ยนความคิดที่สังคมมีต่อมนุษย์ผิวสี แต่มันยังกระทบผลประโยชน์และโครงสร้างเศรษฐกิจกระแสหลัก 

ดังนั้น เมื่อเราต้องการเปลี่ยนการจัดสรรและดูแลธรรมชาติและทรัพยากรส่วนรวม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กระทบผลประโยชน์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลิกค้าทาส เราก็ต้องใจเย็น มองเห็นภาพรวมและบทบาทของเราว่า เป็นอิฐก้อนไหนบนสะพานแห่งการเปลี่ยนแปลง

แต่ในระยะหลังฉันไม่สามารถบอกให้ตัวเองหรือใครๆ ใจเย็นได้อีกแล้ว ฉันเข้าใจและเห็นใจความท้อแท้จิตตกซึมเศร้าของเด็กรุ่นใหม่ที่มองไม่เห็นแสงสว่างในอนาคตตัวเอง หน้าต่างแห่งวาระโอกาสกำลังปิดลง เวลาเป็นทรัพยากรฟุ่มเฟือยที่เราไม่มีเหลือ การสูญพันธ์คือชั่วกัลปาวสาน ผลกระทบต่อภูมิอากาศมีแรงเหวี่ยงของตัวเองที่ถึงจุดหนึ่งมนุษย์ไม่สามารถฉุดรั้งไว้ได้

ฉันจะตอบใครก็ตามที่ถามคำถามนั้นว่า ฉันยังคงมีแรงมีพลังอยู่ได้เพราะฉันไม่หวัง ฉันหยิบก้อนความโหยหาความหวังออกจากหัวใจและวางมันไว้ข้างตัว มันไม่สามารถอยู่ในสารบบความคิดได้ เพราะถ้าฉันคิดถึงความหวัง ฉันจะรู้ว่ามันไม่มี และอาจสงสัยว่าเหตุผลของการมีชีวิตอยู่คืออะไร

ความหวังโยงใยกับผลลัพธ์ มันจึงเป็นเรื่องของอนาคต กังวลไปก็มีแต่บั่นทอน ถ้าเราจะคงพลังหล่อเลี้ยงชีวิตไว้ได้ในยามนี้ เราจำเป็นต้องอยู่กับปัจจุบัน เผชิญหน้ากับสถานการณ์และถามคำถามทองคำที่ใช้ได้ตลอดกาล ได้แก่ “เราทำอะไรได้บ้าง?” เลือกสิ่งที่จะทำให้โลกดีขึ้นและทำมันไป

เพราะถ้าไม่ทำมัน นอกจากจะตอกลิ่มความสิ้นหวังแก่โลกให้ทิ่มลึกยิ่งขึ้นแล้ว ความรุนแรงของสถานการณ์ในอนาคต ก็จะยกระดับความเลวร้ายมากขึ้นไปอีก

ชีวิตที่ผ่านมาเกือบหกทศวรรษ ได้เห็นคนมากหน้าหลายตาผ่านมาผ่านไปในชีวิต สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ คนทุกคนล้วนมีพรสวรรค์อะไรบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อาจมีคล้ายกันบ้างแต่ไม่เหมือนกันทีเดียว 

หน้าที่หนึ่งในชีวิตคือมอบพรสวรรค์นั้นให้แก่โลก และในยามที่โลกกำลังบิดตัวลอกคราบเข้าสู่ยุคใหม่ เราต้องการพรสวรรค์ทั้งหมดนั้นจากทุกๆ คนเพื่อให้เราพากันเปลี่ยนผ่านไปได้ด้วยกัน

ความกังวล เศร้าซึม จิตตก หมดแรง อุดช่องทางต่างๆ ที่พลังไหลเวียนจากธรรมชาติเข้ามาสู่เราและถ่ายออกไป จนพรสวรรค์ที่เรามีงอกงามขึ้นไม่ได้

ในศักราชใหม่นี้ ฉันอยากจะมอบบทกวีบทหนึ่ง เขียนโดย เวนเดิลเบอร์รี่ นักเขียนชาวอเมริกันรุ่นแม่ฉัน ชื่อ The Peace of WildThings (1968) ขอทดลองแปลว่า “ความสงบแห่งชีวิตป่า” ฉันพยายามถอดความมันออกมา แต่ถ้าให้ดี ต้องไปกูเกิ้ลค้นดูบทดั้งเดิมในภาษาอังกฤษ

 

เมื่อความสิ้นหวังต่อโลกเติบโตขึ้นในใจ

และฉันผวาตื่นขึ้นกลางดึกด้วยเสียงเพียงแผ่วเบา

หวั่นวิตกว่าชีวิตฉันกับลูกๆจะเป็นเช่นไร

ฉันจะออกไปและล้มตัวลงนอนตรงที่เป็ดป่า

พักวางความงามลงบนผืนน้ำและนกกระสาหากิน

ฉันได้เข้าสู่ความสงบแห่งชีวิตป่า

ผู้ไม่บั่นทอนชีวิตตัวเองไปกับห้วงคำนึงถึงอนาคตแสนเศร้า

ฉันเข้าสู่ผืนน้ำสงบนิ่ง

สัมผัสได้ถึงหมู่ดาวเบื้องบนที่ยามกลางวันบดบัง

รอคอยเวลาดาวเปล่งแสงชั่วครู่หนึ่ง

ฉันพักอยู่กลางสิริมงคลแห่งโลกและฉันเป็นอิสระเสรี

.................

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านตื่นเช้ามา ได้หยุดฟังเสียงนกร้องรอบตัว เห็นใบไม้เขียวและดอกไม้แย้มบานใกล้ตัว ขออวยพรให้ละทิ้งภาระของความสิ้นหวัง ดมดอกไม้ดอกนั้นและออกไปทำสิ่งที่ต้องทำ

....................

จากคอลัมน์โลกในมือคุณ เซคชั่นจุดประกาย  วันที่  2 มกราคม 2563