ปั้น 'กล่องบรรจุอาหาร' ขึ้นแท่น 'สตาร์' TPLAS

ปั้น 'กล่องบรรจุอาหาร' ขึ้นแท่น 'สตาร์' TPLAS

กระแสรักโลกเข้ามา 'ดิสรัป' อุตสาหกรรมพลาสติก 'ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994)' หนึ่งในผู้ประกอบการต้องปรับตัวด่วน ! 'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' นายใหญ่ หยิบยกแผนลงทุน 'บรรจุภัณฑ์กล่องอาหาร' ฉบับอนาคตขึ้นมาต่อกร แทนขยายโรงงานถุงร้อน หวังผลักดันขึ้นแท่น 'สตาร์'

ถึงวันที่ กระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อม 'รักโลก' ด้วยการ ลด เลิก ใช้ถุง กล่อง แก้ว ที่ทำมาจาก 'พลาสติก-โฟม' และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้แทน บ่งชี้ผ่านสัญญาณตลาดผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นแบบ 'ก้าวกระโดด' สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ โดยเริ่มนำร่องกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อ ในประเทศไทย ด้วย 'การเลิกแจกถุงพลาสติก' ให้ลูกค้าตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป 

บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS ผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร และ ถุงหูหิ้ว ภายใต้ตราสัญญาลักษณ์ 'หมากรุก' หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.ถุงพลาสติกบรรจุอาหารประเภทโพลีโพรพิลีน Polypropylene (PP) 2.ถุงพลาสติกบรรจุอาหารและถุงหูหิ้ว ประเภทโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง High Density Polyethylene (HDPE) และ 3.ฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร Vow Wrap ประเภทโพลิไวนิลคลอไรด์ Polyvinyl Chloride (PVC) 

ทำให้องค์กรแห่งนี้ตัดสินใจ 'กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ' หรือ Diversify ด้วยการ 'แตกไลน์' เข้าไปใน 'ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษบรรจุอาหาร' จากเยื่อไผ่ ภายใต้แบรนด์ 'B-LEAF' เร็วขึ้นจากแผนธุรกิจเดิม !    

หากอนาคตบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ รวมทั้ง พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ยังยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนก็คงยากขึ้น... ! 

'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า จากกระแสการรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ จากแผนธุรกิจเดิมหลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ บริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกำลังการผลิต 'โรงงานใหม่' พร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ สำหรับการผลิต 'ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก' (ถุงร้อน) โดยโรงงานใหม่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 'เท่าตัว' จากกำลังการผลิตเดิม คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างปลายปี 2562  

ทว่า หลังจากนโยบายลดใช้ถุงพลาสติก ทำให้บริษัทต้องชะลอการลงทุนขยายกำลังการผลิตโรงงานใหม่ออกไปก่อน และหยิบยกแผนลงทุนใหม่ขึ้นมาแทน นั่นคือ การลงทุนเครื่องจักรใหม่ 'ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องบรรจุอาหาร' คาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2563 โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายธุรกิจดังกล่าวจะขึ้นมาเป็น 'สตาร์ดวงใหม่' ของบริษัท ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้ 20% หรือเข้ามาทดแทนสัดส่วนรายได้ในผลิตภัณฑ์ถุงหูหิ้วได้ สะท้อนผ่าน บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณของลูกค้าของบริษัทมีการสอบถามถึงบรรจุภัณฑ์กล่องอาหารกระดาษแทนกล่องอาหารพลาสติกเข้ามาจำนวนมากตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

ดังนั้น บริษัทจึงงัดแผนขยายการลงทุนแตกไลน์ไปยังผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับกระแสการรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความครอบคลุมกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น 

ด้วย 'จุดแข็ง' ของบริษัทที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากเชื่อว่าบริษัทจะเสนอผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เข้าได้ไม่ยาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ทันความต้องการในช่วงที่มีการประกาศลดใช้กล่องโฟม  

'อนาคตธุรกิจบรรจุภัณฑ์กล่องอาหารจะขึ้นแท่นสตาร์ดาวใหม่ของเรา เนื่องจากมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กล่องอาหารหลายพันล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่ามูลค่าตลาดถุงหูหิ้วมาก ฉะนั้น เป้าหมายของเราอยากจะเป็น 1 ใน 5 ของผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์กล่องอาหาร'

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หลังจากที่มีมาตรการลดใช้กล่องโฟม ทำให้ความต้องการใช้กล่องบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกระดาษ มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ 'B-LEAF' ทางบริษัทใช้วัตถุดิบในการผลิตซึ่งทำจากกระดาษเยื่อไผ่ ที่มีการหย่อยสลายง่าย ซึ่งยิ่งทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคในขณะนี้ได้ตรงตามความต้องการ 

ขณะที่ภาพรวมของ 'อุตสาหกรรมพลาสติก' นั้น ต้องยอมรับว่า หลังจากที่ประกาศงดใช้ถุงพลาสติกในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการรายหนึ่งในอุตสาหกรรม อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการ เพื่อเยี่ยวยา หรือหาแผนรองรับเข้ามาทดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวก่อนที่ธุรกิจจะปิดตัว เพราะกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการประเภท SMEs  

'กรรมการผู้จัดการ' บอกต่อว่า ส่วนตัวมองว่า แม้จะมีการงดใช้ถุงพลาสติก แต่จะเป็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะมองว่าการใช้ถุงพลาสติก ยังมีความต้องการใช้ในกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีชีวิตจับจ่ายใช้สอยในตลาดสดมากกว่า เมื่อเทียบกับห้างสรรพสินค้า เพราะสินค้าบางประเทศ อาทิ อาหารสด หรือแม้แต่อาหารร้อน ยังจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงร้อน หรือถุงหูหิ้ว ดังนั้น จึงมองว่าถุงพลาสติกยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการพฤติกรรมผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความต้องการใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าบางประเภทยังมีความจำเป็นต้องใช้

นอกจากว่าจะสามารถหาบรรจุภัณฑ์ใหม่เข้ามาทดแทน และไม่เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 15% จากปีก่อน เนื่องจากธุรกิจเดิมยังมีอัตราการเติบโตที่ดี และรายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาอีก จากการปรับกลยุทธ์แบบเชิงรุกโดยการเพิ่มไลน์ผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทในอนาคตได้เพิ่มขึ้น 

'ในปีนี้ บริษัทได้มีการตั้งเป้ายอดขายเฉพาะบรรจุภัณฑ์ สำหรับบรรจุอาหาร ไว้ประมาณ 30 ล้านบาทและคาดว่าจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต'

อย่างไรก็ตาม TPLAS ถึงแม้จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติก แต่บริษัทก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาและมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับบริษัทในระยะยาว นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างแผนการศึกษาไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1-2 ผลิตภัณฑ์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในเร็วๆ นี้  

สำหรับ รายได้ปี 2562 คาดว่ายอดขายลดลง แต่กำไรเติบโต เนื่องจากราคาต้นทุนเม็ดพลาสติกลดลง 4% มาอยู่ที่ระดับ 37-38 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายของบริษัทปรับลดลงแค่เพียง 2% จึงทำให้มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 58-59 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ 'มาร์จิน' สูงขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ท้ายสุด 'ธีระชัย' บอกไว้ว่า การลงทุนจากนี้คงต้องดูทิศทางนโยบายของภาครัฐก่อนว่าจะไปในทางไหน แต่ด้วยประสบการณ์ในวงแวงธุรกิจมานาน และธุรกิจของเราไม่ได้ใหญ่มาก ดังนั้น การปรับตัวและการหยืดหยุ่นธุรกิจจะทำได้ง่ายกว่าธุรกิจขนาดใหญ่  

ปรับตัวรับ 'กระแสรักษ์โลก'   

'ธีระชัย ธีระรุจินนท์' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) หรือ TPLAS บอกว่า สำหรับแนวโน้มและทิศทางของอุตสาหกรรมถุงพลาสติก 'ตลาดในประเทศ' การใช้บรรจุภัณฑ์-พลาสติกในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตใน 'อัตราลดลง' ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2551-2555 ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีอัตราการ เติบโตถึง 7% ต่อปี และเริ่มชะลอตัวลงเหลือ 3% ต่อปี ในช่วงปี 2556-2560 

รวมทั้ง แนวโน้มในปัจจุบัน จากกระแสรักษ์-โลก และการรณรงค์-ของภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมีแนวโน้มลดลงไปอีก 

ขณะที่ การเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์-พลาสติก ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหาร ในส่วนของสินค้าแช่แข็งที่แนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น และในส่วนของอาหารสำเร็จรูปที่ผู้จำหน่ายจะเน้นคุณภาพ ความสดความสะอาด ซึ่งจะตองมีการบรรจุในผลิตภัณฑ์-ที่ทำเพื่ออาหารโดยเฉพาะ เป็นต้น

จากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่กล่าวข้างตน จะส่งผลทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลติผลิตภัณฑ์-สนับสนุนอุตสาหกรรมนั้นๆ  เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์-ยังคงมีความต้องการต่อเนื่อง ทำให้ราคาวัตถุดิบยังคงไม่มี การปรับตัวลดลงแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตามมาตรการของภาครัฐและเอกชนในปี 2561 แม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผล กระทบต่อผู้ประกอบการไม่มากนัก เนื่องจากคนไทยมีการใช้ถุงพลาสติกปีละ 7,000 ล้านใบ แต่หากภาครัฐปฏิบัติตาม เป้าหมายได้สำเร็จในการนำพลาสติกกลับมาใช้หลังการบริโภค 60% ประกอบกับกระแสการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์-พลาสติกแบบพื้นฐานแบบบริโภคครั้งเดียว (single use) อย่างถุงหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติกแบบพื้นฐานแน่นอน เนื่องจากปริมาณการใช้ที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอย่างแน่นอน