‘โอโซนพุ่ง’ ภัยคุกคามใหม่ มลพิษอากาศในจีน

‘โอโซนพุ่ง’ ภัยคุกคามใหม่ มลพิษอากาศในจีน

ศูนย์วิจัยอากาศเผย การต่อสู้กับมลพิษของจีนกำลังเผชิญภัยคุกคามใหม่ จากการเพิ่มขึ้นของระดับ "ก๊าซโอโซน" ที่เป็นอันตราย แม้จะสามารถลดฝุ่น PM 2.5 ลงได้อย่างมาก

ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (ซีอาร์อีเอ) ซึ่งมีสำนักงานในฟินแลนด์เผยแพร่รายงานล่าสุด ระบุว่า ระหว่างปี 2558-2562 จีนสามารถลดปริมาณอนุภาคฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าถึงปอด และกระแสเลือด ลงได้ถึง 27% และยังสามารถลดระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์เฉลี่ยลงได้ถึง 55% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าประทับใจอย่างมาก

"หากมองในภาพรวมทั้งประเทศจีนมีแนวโน้มจะทำได้ตามเป้าหมายคุณภาพอากาศปี 2559-2563" รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม ซีอาร์อีเอเตือนว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ระดับของก๊าซโอโซนซึ่งมีรายงานชี้ว่าสัมพันธ์กับการลดลงของประสิทธิภาพการเรียนรู้และผลการศึกษา กลับเพิ่มขึ้นถึง 11% แม้จีนจะพยายามต่อสู้กับปัญหามลพิษดังกล่าวอย่างมากแล้วก็ตาม

ลอรี มิลลีเวอร์ตา หัวหน้านักวิเคราะห์ของซีอาร์อีเอซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานนี้กล่าวว่า ที่จีนมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นก็เพราะมาตรการติดไส้กรองที่ปลายท่อ เพื่อกรองมลพิษก่อนที่จะปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม โอโซนและไนโตรเจนไดออกไซด์ ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการกรองแค่เพียงลำพัง

รายงานของซีอาร์อีเอระบุว่า การสัมผัสกับก๊าซทั้ง 2 ประเภทเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนนับแสนรายทุกปีในจีน

อากาศปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เริ่มฟื้น

ซีอาร์อีเอระบุด้วยว่า ภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย์ และภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี มีแนวโน้มจะทำได้ตามเป้าหมายเรื่องลดความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ลงได้ 4% และ 2% ภายในเดือน มี.ค. นี้ตามลำดับ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ประกาศทำสงครามปราบปรามมลพิษในปี 2557 โดยเน้นลดมลพิษใน 2 ภูมิภาคนี้

2 ภูมิภาคดังกล่าวมีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงกว่ามาตรฐานประเทศ เพราะมีโรงงานหนาแน่นและมีความอ่อนไหวทางการเมือง แต่ความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในจีนกลับไม่เปลี่ยนแปลงในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เพราะมลพิษในมณฑลเฮย์หลงเจียง เจียงซี และกวางตุ้งเพิ่มขึ้นระดับตัวเลขสองหลัก

มิลลีเวอร์ตา ระบุว่า ในพื้นที่อื่นนอกกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้แทบไม่มีความคืบหน้าในการลดมลพิษและยังคงเพิ่มการใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหินต่อไป

PM 2.5 ในกรุงปักกิ่งลดลง 18% ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปีก่อน PM 2.5 ในพื้นที่รอบมณฑลเหอเป่ย์ แหล่งผลิตเหล็กและมีมลพิษสูงที่สุดในประเทศลดลง 18% จากปีก่อนหน้า เพราะโรงงานที่สร้างมลพิษย้ายไปอยู่ที่อื่น เห็นได้จากตัวเลขการผลิตเหล็กและซีเมนต์ในเหอเป่ย์ที่ลดลง 14% และ 7% ในเดือน ต.ค. และ พ.ย. สวนทางกับตัวเลขการผลิตทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ซีอาร์อีเอเตือนว่า สงครามปราบปรามมลพิษของจีนกำลังได้ผลลดลง เพราะจีนพึ่งพาเทคโนโลยีในการควบคุมมากเกินไป แทนที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุมลพิษ