'แอร์เอเชีย-กูเกิล' เปิดสถาบันเทคโนโลยีแห่งแรกของเอเชีย

'แอร์เอเชีย-กูเกิล' เปิดสถาบันเทคโนโลยีแห่งแรกของเอเชีย

แอร์เอเชียกรุ๊ป เดินหน้าเป็นบริษัทที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ จับมือกูเกิลสร้างศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีแห่งแรกของเอเชีย เปิดตัวภายในสิ้นปีนี้

ไอรีน โอมาร์ ประธานแอร์เอเชียกรุ๊ป สายการบินราคาประหยัดรายใหญ่สุดของเอเชียวัดจากจำนวนเครื่องบิน เผยกับนิกเคอิ เอเชียน รีวิวว่า บริษัทเป็นพันธมิตรกับกูเกิลมานาน จึงชวนมาร่วมมือกันทำสถาบันเทคโนโลยี ซึ่งคนเก่งด้านเทคโนโลยีหน้าใหม่ๆ จะมีบทบาทมากในธุรกิจใหม่ที่แอร์เอเชียกำลังพัฒนา และช่วยเติมเติมแผนการของโทนี เฟอร์นัสเดซ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแอร์เอเชียให้เป็นจริง ในการทำให้แอร์เอเชียเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลอีกครั้ง

ด้านทิม ไซนัน ผู้อำนวยการกูเกิลคลาวด์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า สถาบันแอร์เอเชีย-กูเกิลคลาวด์ เป็นความร่วมมือระหว่างเรดบีท เวนเจอร์สของแอร์เอเชียกับกูเกิลคลาวด์

“เราร่วมมือกันเพื่อใช้เทคโนโลโนโลยีที่กูเกิลคลาวด์เชี่ยวชาญ เพิ่มทักษะให้กับแอร์เอเชีย ออลสตาร์ สร้างความรู้ด้านเทคนิคเชิงลึกควบคู่กับความเชี่ยวชาญของคลาวด์ เช่น คูเบอร์เนเตส การวิเคราะห์อัจฉริยะ คลาวด์เอไอและอื่นๆ”

กูเกิลคลาวด์และพันธมิตรยังให้บริการอบรมคลาวด์และเสริมแกร่งให้กับแอร์เอเชีย ออลสตาร์ ผ่านห้องทดลองที่เรียนรู้ด้วยตนเอง จัดคอร์สตามต้องการผ่านระบบการเรียนออนไลน์ ฝึกอบรมในห้องเรียน มีห้องทดลองใช้โซลูชันทันสมัยได้ใบรับรองจากกูเกิลคลาวด์

157913472392

แอร์เอเชีย เปิดให้จองบริการท่องเที่ยวแบบจำกัดผ่านเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่ปีที่ผ่านมาบริษัทประกาศแผนขยายบริการออนไลน์ เช่น จองบัตรโดยสารกับสายการบินคู่แข่ง และบริการอีคอมเมิร์ซ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นบริการจองการเดินทางแบบครบวงจร เนื่องจากกำไรของบริษัทผันผวนอย่างหนัก เหตุจากราคาน้ำมันเพิ่มและการแข่งขันอันดุเดือดในธุรกิจสายการบิน เฟอร์นันเดซจึงต้องหันไปหาแหล่งรายได้อื่นด้วย

ปีที่แล้ว ซีอีโอรายนี้เผยกับนิกเคอิว่า ตั้งใจลงทุน 24.6 ล้านดอลลาร์ต่อปี ใช้ข้อมูลมหาศาลจากผู้โดยสารแอร์เอเชีย 100 ล้านคน นำมาสร้าง “อเมซอนของการเดินทาง”

ส่วนเรดบีทเวนเจอร์ส ธุรกิจดิจิทัลของแอร์เอเชีย ดูแลกิจการส่วนนี้ 9 ธุรกิจจากแอร์เอเชียตั้งแต่เดือน มิ.ย.2561 ทุ่มเทธุรกิจนอนคอร์โดยเฉพาะ ด้วยเชื่อว่าจะเป็นตัวทำกำไรได้มากกว่าธุรกิจสายการบิน

บริษัททั้ง 9 ประกอบด้วย แอร์เอเชียบิ๊กลอยัลตี, บิ๊กเพย์ ให้บริการอีมันนี, 360 ผลิตนิตยสารท่องเที่ยวบริการบนเครื่องบิน, ROKKI ผู้ให้บริการไวไฟบนเครื่อง,Ourshop แพลตฟอร์มดิวตี้ฟรี, เรดคาร์โก โลจิสติกส์และเรดบ็อกซ์ โลจิสติกส์ ธุรกิจคาร์โกและส่งพัสดุ,Vidi แพลตฟอร์มท่องเที่ยว และ RedTix

157913473451

เดือนก่อนเฟอร์นันเดซ ระกาศว่า เรดบีท เวนเจอร์ส จะเปิดร้านอาหาร 5 แห่ง และขายแฟรนไชส์ร้านกาแฟ 100 แห่งในต่างประเทศ ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก รวมถึงหลายเมืองในจีนและออสเตรเลีย

“เราเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ไม่ได้ถ้าไม่มีอาหาร อาหารของสายการบินเราประสบความสำเร็จ เราเป็นสายการบินแรกที่ขายอาหาร” เฟอร์นันเดซกล่าวหลังเปิดตัวร้านฟาสต์ฟู้ดแห่งแรกของบริษัท

บริษัทวิชาการเทคโนโลยีของแอร์เอเชียเกิดขึ้นในช่วงที่กำไรของบริษัทลดลงมาก สวนทางกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น สายการบินต่างๆ ต้องแข่งขันกันหนักหน่วงเนื่องจากซัพพลายล้นตลาด แต่ความต้องการของผู้โดยสารกลับไม่มากเท่า จึงมีส่วนทำให้แอร์เอเชียควบคุมการขยายกิจการในภูมิภาค ขายบริษัทโฮลดิงส์บางแห่งออกไป และเปลี่ยนไปใช้ตัวแบบธุรกิจไม่ถือครองทรัพย์สินเป็นของตนในการดำเนินการระยะยาว

ไอรีนระบุว่า บริษัทร่วมลงทุนแห่งแรกระหว่างแอร์เอเชียกับกูเกิล ในรูปของศูนย์ฝึกอบรมจะเปิดรับนักเรียนได้ภายในสิ้นปีนี้

“ช่วงแรกสถาบันจะเปิดให้พนักงานแอร์เอเชียเข้ามาฝึกอบรมในเดือนหน้า เพื่อเพิ่มทักษะให้เหมาะสมกับการบริหารธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต” ไอรีนกล่าว

157913474495

นอกจากนี้ศูนย์ฝึกอบรมยังทำหน้าที่เป็นท่อส่งคนเก่งด้านเทคโนโลยี ช่วยปรับทักษะเจ้าหน้าที่แอร์เอเชียไปทำหน้าที่อื่นภายในกลุ่มบริษัท หลังจากมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น

“หลายงานอาจกลายเป็นงานไม่จำเป็นใน 3 ปีข้างหน้า เราจึงต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้ปรับทักษะเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัล”

ส่วนหลักสูตรที่เปิดสอน เช่น การตลาดดิจิทัล การจัดการผลิตภัณฑ์ดิจิทัล วิศวกรซอฟต์แวร์ และหลักสูตรสร้างและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี