EEC ทำเลทอง หรือโอกาสทองของใคร

EEC ทำเลทอง หรือโอกาสทองของใคร

แม้โครงการอีอีซีเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี แต่กลายเป็นทำเลทองที่เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมจำนวนมาก เนื่องจากเดิมเป็นแหล่งโรงงาน และอยู่ใกล้เส้นทางส่งออกทางเรือ ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่าทำเลทองนี้ เป็นของไทยจริงหรือไม่ หรือเอื้อเฉพาะต่างชาติเท่านั้น

แม้ว่าในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา ยอดขาย หรือเช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ประกอบกิจการเพียง 93 ราย ลดลงจากปีก่อน 13% แต่ใน EEC (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) นับว่าเป็นทำเลทอง เพราะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจำนวน 1,963 ไร่ ซึ่งเพิ่มจำกปีก่อนถึง 98% โดยประเทศที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และสหรัฐ

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมยาง และพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ นับว่าเป็นโอกาสทองของแรงงานไทยที่เกิดการสร้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 5 พันตำแหน่ง

ที่สำคัญในปี 2563 นี้มีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม แสดงความสนใจที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC อีกจำนวน 18 โครงการ คิดเป็นพื้นที่ราว 35,000 ไร่

นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ในฐานะตัวแทนสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ได้มีความพยายาม ที่กำหนดให้ EEC เป็นเป้าหมายหลักของเมืองอัจฉริยะตามความต้องการที่แท้จริงของภาคประชาชน และภาคเอกชนในพื้นที่ EEC โดยมีขอบเขตความเป็นเมืองอัจฉริยะใน 7 มิติ ดังนี้

1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2.เศรษฐกิจ อัจฉริยะ (Smart Economy) 3.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 4.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) 5.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 6.การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และ 7.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

นับว่าเป็นโอกาสทองที่ประชาคมทุกภาคส่วนในเขตทำเลทองของ EEC จะได้มีวิถีชีวิตที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด ทำให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเน้นการออกแบบที่ดี ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในการพัฒนาเมืองใน EEC

อีกไม่นาน โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ที่คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการบินไทย และเอกชนผู้ร่วมทุนได้ในเดือนส.ค.2563 นี้ และตามแผนคาดว่า จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 ซึ่งมีเป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท

หากเป็นไปตามแผน นอกจากการบินไทยและเอกชนผู้ร่วมทุน จะได้โอกาสทองในโครงการนี้ แรงงานไทยที่มีศักยภาพมีความพร้อมในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะได้โอกาสทองจากโครงการร่วมทุนนี้อย่างแน่นอน

ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีโอกาสทองของทุกคนที่ไขว่คว้าโอกาสในทำเลทอง EEC ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีนี้ จะเป็นปีที่ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสมหวังได้รับโอกาสทองใน EEC โดยท่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้และโอกาสทองต่างๆ ได้เสมอจากคอลัมน์ Smart EEC เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุง และเพิ่มขีดสมรรถนะในการทำงานและการบริหารงาน ตลอดจนการประกอบกิจการของตนให้ประสบความสำเร็จอย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป