ห้ามรถวิ่งแก้ฝุ่น รัฐบาลต้องเด็ดขาด

ห้ามรถวิ่งแก้ฝุ่น รัฐบาลต้องเด็ดขาด

ฝุ่นละออง PM2.5 ปัญหาที่แก้ไม่ตก จนทำให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอ ครม.ใช้ยาแรง แต่ขอโยนหินถามทางก่อนว่ารับได้หรือไม่ หากมีกฎหมายห้ามรถยนต์วิ่งในเมืองหลวง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ความจริงจังในการแก้ปัญหา

ฝุ่นละอองที่เป็นมลพิษทางอากาศ ได้กลายเป็นปัญหาหลักของคนกรุงและชุมชนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เรียกได้ว่ากำลังเข้าขั้นวิกฤติ ข้อมูลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุปัญหาฝุ่น PM2.5 จำนวน 72% ใน กทม. พบว่ามาจากยานพาหนะที่เป็นรถบรรทุกกว่า 20% รถกระบะ 20% จากภาคอุตสาหกรรมเกือบ 20% ที่เหลือหรือประมาณ 40% มาจากรถยนต์

นำไปสู่ประเด็นร้อนที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ในทำนองว่ากำลังเตรียมการในการออกมาตรการยาแรงเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก่อนโยนหินถามทางว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่ หากจะมีกฎหมายห้ามรถยนต์วิ่งในเมืองหลวง

นายวราวุธยังเสนอแนวทางขอไฟเขียว ในการออกประกาศโดยไม่ต้องรอขั้นตอนกฎหมายที่กำหนดให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเสียก่อน ต้องยอมรับว่าวันนี้ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษจากรัฐบาลชุดปัจจุบันมากพอ ทั้งๆ สถานการณ์ฝุ่นละอองปีนี้เทียบเท่าหรือมากกว่า 2-3 ปีก่อน หลายพื้นที่ PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บางพื้นที่ในบางวันอาการหนักกว่าคือ PM2.5 เกือบ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เราเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ถ้าปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะเพียงพอกับปัญหาที่เกิด

ที่สำคัญมาตรการที่ ครม.คลอดออกมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 หากดำเนินการจะสามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาฝุ่นพิษรุนแรงขึ้นแบบปัจจุบัน จากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของ PM2.5 ตั้งแต่ระดับที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ไปจนถึงระดับรุนแรงสุดคือ PM2.5 เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอมาตรการให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ ยังมีระยะกลางในการลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางในระยะปี 2562-2564 เป็นต้น

ผ่านไปกว่า 3 เดือน มีเพียงกรมควบคุมมลพิษที่ทำงาน ส่วนหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งผู้ว่าฯ ยังไม่ได้ทำหน้าที่เท่าที่ควร เราเห็นว่าปัญหาฝุ่นพิษไม่ใช่เรื่องเฉพาะหน้าหรือแก้ปัญหาเมื่อค่าฝุ่นสูง ต้องดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง เคร่งครัดเท่านั้นยังไม่พอ ปัญหาวันนี้แม้ค่า PM 2.5 ยังเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่เรียกว่าวิกฤติ อันตรายต่อสุขภาพ เราเห็นความจำเป็นหากภาครัฐจะใช้ยาแรงเข้ามาจัดการ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีใครค้าน คนไทยน่าจะยอมรับได้ หากผู้ได้รับผลกระทบจะขอเวลาไม่นานเกินไปในการปรับตัว

ตัวอย่างที่น่าสนใจในต่างประเทศ ที่ห้ามรถยนต์วิ่งเข้าเขตเมือง ได้แก่ เกาหลีใต้ ห้ามรถยนต์ทุกประเภท เยอรมนี ห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่า หรือนอร์เวย์ที่เตรียมประกาศห้ามรถยนต์ดีเซล อย่างไรก็ดี อาจจะมีฝ่ายที่คัดค้านยาแรงดังกล่าว เป็นกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ก็คือนายทุนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและเกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ คงจะไม่ยอมและเคลื่อนไหวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากเป็นเช่นนั้น เรามีความเป็นห่วงว่าข้าราชการ ครม.หรือรัฐบาลจะทานกระแสคัดค้านจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ดังกล่าวไหวหรือไม่ อย่าให้เป็นเพียงการเคาะกะลา ประชาชนกำลังเฝ้ามองอยู่