ส่อง 'ผลตอบแทน' กองทุนปี 62 'โกลบอลเทคโนโลยี' ครองแชมป์

ส่อง 'ผลตอบแทน' กองทุนปี 62 'โกลบอลเทคโนโลยี' ครองแชมป์

แม้ปี 2562 ที่ผ่านมา มีปัจจัยที่เข้ามากระทบตลาดการเงินการลงทุนอย่างไม่ขาดสาย ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ปะทุเป็นระยะๆ แต่ภาพรวมตลาดกองทุนรวมของไทยในปี 2562 ยังเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา  

“ชญานี จึงมานนท์”  นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท เติบโต 6.6% จากปี 2561  โดย“กองทุนรวมตราสารหนี้” ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราว 48% รองลงมาเป็นกลุ่ม “กองทุนรวมตราสารทุน”มีส่วนแบ่งตลาด 28% 

ทางด้าน “กองทุนเปิดใหม่” ในปี2562 มีทั้งสิ้น 633 กอง  สูงสุดคือกองทุนตราสารหนี้จำนวน 442 กอง ส่วนใหญ่เป็น กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแบบ term fund หรือ Foreign Investment Bond Fix Term จำนวน 361 กอง ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ขนาดใหญ่ นิยมออกกองทุนประเภทนี้ เนื่องจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

ขณะที่กลุ่ม “กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ ( Equity Large-Cap )”  เปิดใหม่มากที่สุดเป็นอันดับสองจำนวน 30 กองทุน  รวมมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการเปิดกองทุนใหม่ตลอดทั้งปี  ทั้งกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบใหม่, กองทุนที่เปิดเพื่อรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุน LTF RMF 

สำหรับผลตอบแทนของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนปี 2562 ที่ 8.4%  กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย “สูงกว่า” กองทุนที่ลงทุนในประเทศ  กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 อันดับแรกในรอบปี ได้แก่ กลุ่ม Global Technology 26.8%, Europe Equity 26.3%, Global Sector Focus Equity 24.8% ในขณะที่กองทุนไทย เช่น กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีผลตอบแทนเฉลี่ย 2.5% ใกล้เคียงกับกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ที่เฉลี่ย 2.5% มีกลุ่มกองทุนเพียง 2 กลุ่มที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบคือ ASEAN Equity และ Equity Fix Term ที่ -0.3% และ -1.3% ตามลำดับ

ส่วน มูลค่าทรัพย์สินของกองทุน LTF ที่ถึงแม้ว่าปีใหม่นี้จะไม่ได้รับความสนใจอย่างในอดีต เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หมดไป และแทนที่ด้วยกองทุน Super Savings Fund (SSF) แต่ในช่วงสุดท้ายของปีกองทุน  ก็ยังมีเงินไหลเข้า โดยสิ้นปี 2562 กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราว 6.3% และมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 2.0 หมื่นล้านบาท โดยในเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ยังคงมีเงินไหลเข้า 2.3 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับในอดีต

    ด้าน “เงินทุนไหลเข้า” พบว่าในปี 2562 เงินไหลเข้ากองทุนรวมสุทธิ  2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับปกติของอุตสาหกรรมหากดูที่ปริมาณเงินไหลเข้าในแต่ละช่วงของปี พบว่าในไตรมาส 4 เป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 1.3 แสนล้านบาท เป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุน 7.3 หมื่นล้านบาทและ 5.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากลุ่มกองทุนขนาดใหญ่เช่น Short Term Bond, Mid-Long Term Bond และ Equity Large-Cap

หากดูภาพรวมทั้งปี เงินทุนที่ไหลเข้านั้น ส่วนใหญ่ไหลเข้ากองทุนที่ลงทุนในประเทศ โดย “5 อันดับแรก” ของกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดนั้น มีเพียงกลุ่ม  "Property Indirect Global "ที่เป็นกองทุนต่างประเทศ ขณะที่กลุ่ม Mid/Long Term Bond และ Short Term Bond เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลสุทธิสูงสุด 2 อันดับแรกของปีที่ 7.0 หมื่นล้านบาท และ 5.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ  ทั้งสองกลุ่มมีเงินไหลเข้ามากในช่วงครึ่งปีหลัง จากทิศทางดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปจากปี 2561 และความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจตราสารหนี้มากขึ้น

โดยกองทุน  “TMB Aggregate Bond”  เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท สูงสุดของกลุ่ม Mid/Long Term Bond และเป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในอุตสาหกรรมประจำปี 256 2 ในขณะที่กลุ่ม Short Term Bond มีกองทุน  "TMB Ultra Short Bond"  เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 3.1 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรม

กลุ่ม  “Aggressive Allocation” เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดสำหรับประเภทกองทุนผสมจากเงินไหลเข้าสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุนจาก บลจ. ไทยพาณิชย์ 2 กอง เป็นหลักคือ  “SCB Income Plus ” มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรม และ “SCB Multi Income Plus A” รวมกันราว 5.0 หมื่นล้านบาท

ส่วนกลุ่ม Property - Indirect Global เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จากลักษณะผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุนเช่น REIT ที่มีการจ่ายเงินปันผลเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีเงินไหลเข้าสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติเงินไหลเข้าสูงสุดของกลุ่มนี้

ทางด้านกลุ่มที่ “เงินไหลออกสุทธิ” สูงสุด 10 อันดับนั้นมีเพียง 3 กลุ่มที่เป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศคือ Money Market, Bond Fix Term, และ Conservative Allocation ซึ่งล้วนแต่เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนอีก 7 กลุ่มนั้นล้วนแต่เป็นกองทุน FIF โดย Global Allocation และ Global Bond ที่ยังคงเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิของปี ที่ -3.5 และ -2.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ