อุตฯ อาหารปี 63 สดใสคาดการส่งออกโต '2-5%'

อุตฯ อาหารปี 63 สดใสคาดการส่งออกโต '2-5%'

‘ผู้ส่งออก’ คาด อุตฯ อาหารปี 2563 โต 2-5%ระบุสงครามการค้ากระทบน้อย ตลาดสหรัฐ – จีน ยังเป็นบวก ห่างปัญหาค่าบาทแข็งฉุดความสามารถแข่งขัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ภาพรวมในปี 2562 สินค้าอาหารที่เป็นวัตถุดิบส่งออกติดลบ 2% อาหารแปรรูปเติบโต 2% ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ติดลบ 1.3% ถือเป็นการลดลงที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี สาเหตุสำคัญมาจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ต้นทุนสูงแข่งขันลำบาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกในกลุ่มอาหารในปี2563 จะขยายตัว 2-5% โดยสินค้าที่เป็นวัตถุดิบอาจจะไม่เติบโต เนื่องจากมีปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนอาหารแปรรูปคาดว่าจะเติบโต 2-5% แต่ทั้งนี้จะต้องติดตามการเจรจาสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐ ในเฟส 2 ว่าจะราบรื่นหรือไม่และปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐจะบานปลายหรือไม่ และเรื่องสหภาพยุโรป (อียู) จะปรับขึ้นภาษีจริงหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดกำลังซื้อของตลาดโลก

“สินค้าอาหารที่ส่งออกได้ดีในปีนี้ คือ ไก่ เพราะไทยรอดพ้นจากโรคไข้หวัดนกมาได้ เลยไปแทนตลาดคู่แข่งที่เกิดโรคระบาด รวมทั้งเกิดโรคหมูในจีน ทำให้จีนต้องนำเข้าเนื้อไก่มากขึ้นเข้ามาทดแทนเนื้อหมู รวมทั้งจะมีโรงงานเลี้ยงไก่ในไทยเพิ่ม ส่วนข้าวติดปัญหาภัยแล้ง ราคาสูง ปัญหาเรื่องโรคระบาด และคุณภาพข้าวเพื่อนบ้านทำได้ดีขึ้น จึงทำให้มีการแข่งขันสูง”

ในส่วนของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. สินค้าเกษตรกรรม และ2. อุตสาหกรรมเกษตร มีตัวเลขส่งออกประมาณ 1 ล้านล้านบาท และเป็นการบริโภคในประเทศ 2 ล้านล้านบาท โดยในอุตสาหกรรมอาหารยังสามารถขยายตลาดภายในประเทศได้อีกมาก เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก เพราะไทยมีตลาดผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคน และยังมีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนเข้ามาภายในประเทศเกือบ 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งส่งผลบวกอย่างมากต่อการบริโภคภายในประเทศ

ส่วนเทรนอาหารที่มาแรงอันดับ 1 โปรตีนที่ทำมาจากพืชแทนเนื้อสัตว์ ที่ต่างประเทศนำมาประกอบกอาหารบางรายการ เช่น แฮมเบเกอร์ จากถั่วเหลือทดแทนเนื้อสัตว์ 2. อาหารสุขภาพ 3. อาหารเพื่อผู้สูงอายุ รองรับสังคมผู้สูงอายุของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ที่ปลอดภัยและอร่อย 

4. อาหารที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น อาหารไทยท้องถิ่นต่างๆต้องใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และยังเป็นการสนับสนุนจุดเด่นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ต้องการอาหารท้องถิ่นแท้ๆ 5. การแปรรูปแมลงที่ให้โปรตีนสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย ซึ่งที่ยุโรปตื่นตัวมาก โดยเฉพาะจิ้งหรีดทำเป็นผงไปผสมอาหารอื่น และ6. อาหารที่ตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน