'ปอร์เช่ ไทคานน์' ... Sport EV ตัวจริง

'ปอร์เช่ ไทคานน์' ... Sport EV ตัวจริง

ถ้ามีรถอย่าง ปอร์เช่ ไทคานน์ ในตลาด มีจุดควิกชาร์จ กระจายในเส้นทางหลักอย่างในยุโรป ผมว่า รถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะคอสปอร์ต

“อีวี” ได้รับการกล่าวขานถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีคำถามที่เกิดขึ้นเป็นคู่ขนานตลอดเวลาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ราคา สมรรถนะ หรือว่าความสะดวกในการใช้

พูดถึงอีวี การที่มันตัดหัวใจหลักของรถในปัจจุบัน คือ เครื่องยนต์สันดาปภายในทิ้งไปได้ ทำให้ใครๆ ก็คิดว่ามันง่ายขึ้นมากที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีตัวอย่างให้เห็นอย่า เทสล่า ที่ปัจจุบันขยายตลาดไปหลายประเทศ มีรถหลายๆ รุ่นทำตลาด ทำให้กลุ่มธุรกิจหลายๆ กลุ่มมองโอกาสเข้ามายังอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

ทั้งนี้เพราะเครื่องยนต์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความซับซ้อน ต้นทุนในการพัฒนาสูง และใช้เวลาในการพัฒนายาวนาน แค่จะเลือกซื้อมาใช้แทนการพัฒนาเองยังยาก

ดังนั้นเมื่ออีวีเกิดขึ้น การเปลี่ยนหัวใจหลักไปเป็น แบตเตอรี และมอเตอร์ไฟฟ้า มันลดความซับซ้อนลงไปมาก และยังหาแหล่งซื้อได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องพัฒนาเอง

แต่จะว่าก็ว่าเถอะ แม้โดยทฤษฎีจะดูง่ายขึ้น แต่ก็คงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ไหนจะเรื่องของการตลาด หรือว่าทางเทคนิค เพราะรถก็คือรถ ที่จะต้องใช้งานเคลื่อนที่ไปมา ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย รวมถึงความสนุกในการขับขี่ จึงยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี

และในขณะที่ธุรกิจนอกอุตสาหกรรมยานยนต์มองหาช่องทางเข้ามา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์แทบทุกค่ายก็มองโอกาสขยายตลาดนี้เช่นกัน และแน่นอน รวมถึงยักษ์ใหญ่รถสปอร์ตจากเยอรมนี “ปอร์เช่”

157909210013

เดิมที ปอร์เช่ เอจี มีเป้าหมายว่าจะใช้เงิน 3,000 ล้านยูโร สำหรับแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ แต่เมื่อเห็นว่ามันเป็นทิศทางที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต จึงตัดสินใจเพิ่มงบเป็น 2 เท่าคือ 6,000 ล้านยูโร หรือว่า 2 แสนล้านบาทสำหรับโครงการนี้ที่มีระยะเวลาถึงปี 2565 โดยรวมทั้งการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาสายการผลิตของโรงงานที่สตุทการ์ท รวมถึงการพัฒนารถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ต้นแบบ มิสชั่น อี ก่อนที่จะกลายมาเป็นรถเชิงพาณิชย์คันแรกที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วช่วงเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว นั่นคือ “ปอร์เช่ ไทคานน์” 

ความร้อนแรงของไทคานน์ ก็คือ เมื่อมีกำหนดเปิดตัวแน่นอน มีผู้ลงทะเบียนจองรถล่วงหน้าพร้อมวางมัดจำคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 แสนบาทถึง 2 หมื่นคน และล่าสุดมากกว่า 3.1 หมื่นคนเข้าไปแล้ว ขณะที่บ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ยังไม่เปิดตัว ยังไม่รู้ราคา แต่แว่วว่ามียอดจองเข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้วจำนวนมาก

ทั้งนี้คาดว่ารออีกไม่นาน คงได้เห็นไทคานน์เข้ามาโลดแล่นบนท้องถนนบ้านเรา

ช่วงปลายปีที่แล้วผมมีโอกาสไปร่วมกิจกรรมลองขับ ไทคานน์ ที่ยุโรป เป็นกิจกรรมทีปอร์เช่ จัดต่อเนื่อง คือ

เป็นการขับทดสอบแบบไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำเส้นทาง โดยสื่อมวลชนจากทั่วโลก รวม 18 วัน ผ่าน 9 ประเทศ ระยะทาง 6,400 กม. ซึ่งก็คงจะเข้าใจได้มากว่า นอกจากจะทดสอบดูเรื่องของสมรรถนะแล้ว ยังตอบคำถามเรื่องการใช้งานจริงว่ามีความสะดวกมาน้อยแค่ไหน และการเดินทางแทบจะทั่วยุโรปนี้ทำได้หรือไม่ และนำมาฝากกันใน คอลัมน์ Hot Drive ครั้งนี้

ผมบินไปรับไม้ต่อช่วงที่ 9 เส้นทางจากอินส์บรูก ออสเตรีย ไปมอนด์ซูน ออสเตรีย และไปจบที่ยุโรป ก่อนที่กลุ่มทีเหลือจะตีขึ้นไปเบอร์ลิน และมาจบกิจกรรมที่บ้านเกิดสตุทการ์ท

157909210142

ไทคานน์มี 2 รุ่น คือ ไทคานน์ เทอร์โบ และไทคานน์ เทอร์โบ เอส ซึ่งการใช้ชื่อเทอร์โบ แม้จะเป็นอีวี ไม่มีเครื่องยนต์ก็เป็นเพราะสื่อสารได้ง่ายเข้าใจได้ง่าย มันก็คล้ายๆ กับชื่อของคนเรานั่นแหละครับ ไม่จำเป็นจะต้องตรงเป๊ะกับรูปร่างหน้าตาทุกอย่างไป 

ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้งแบตเตอรี 93.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่ด้านหน้า และหลัง หมายถึงมันเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่การบริหารจัดการจะเน้นไปที่ล้อหลังมากกว่า ส่วนล้อหน้าเป็นตัวเสริม 

รุ่นเทอร์โบให้กำลังสูงสุด 680 แรงม้า แรงบิด 850 นิวตันเมตร แต่ถ้านี่ยังไม่สะใจคุณ ขยับไปที่ เทอร์โบเอส ซึ่งแรงม้าขึ้นสูงสุดได้ถึง 761 แรงม้า และแรงบิดที่ทะลุไปที่ 1,050 นิวตันเมตร 

ไทคานน์ เป็นรถ 4 ประตู แต่ด้วยแนวทางการออกแบบเน้นให้เป็นรถสปอร์ต รวมทั้งรูปทรงตัวถังภายนอกจึงทำให้ภายในห้องโดยสารไม่ได้กว้างนัก แต่ก็นั่งได้สบายไม่อึดอัดสำหรับ 4 คน ส่วนคนที่ 5 หากจะนั่งตรงกลางเบาะหลังดูไม่ค่อยสะดวกนัก 

ตำแหน่งผู้ขับขี่ นั่งสบาย  ควบคุมอุปกรณ์หรือว่าระบบต่างๆ ได้ง่าย ทัศนวิสัยโดยรวมชัดเจนดี ยกเว้นด้านหลังที่มองผ่านกระจกหลังที่อาจจะดูแคบไปบ้าง แต่การใช้งานจริงไม่มีปัญหาอะไรในการมอง และหากถอยหลัง ก็มีภาพจากกล้องท้ายรถส่งมาที่มอนิเตอร์ด้านหน้าซึ่งชัดเจนพร้อมเส้นนำทาง 

157909191922

ทั้งนี้การออกแบบภายในปอร์เช่บอกว่าไหนๆ ก็เป็นอีวีแล้ว ก็ควรจะเอาใจโลกยุคใหม่กันหน่อย รูปแบบต่างๆ จึงดูล้ำสมัย ทั้งแผงหน้าปัด 16.9 นิ้ว ่แบบไม่มีกรอบ มอนิเตอร์ตรงกลาง ขนาด 10.9 นิ้ว ถัดมาด้านล่างเป็นจอ 8.4 นิ้ว ที่เรียกว่า แฮปติก คือไม่ใช่สัมผัสอย่างเดียว แต่ต้องออกแรงกดด้วย เข้าใจว่าเพื่อป้องกันการผิดพลาดจากการสั่งงานโดยไม่ได้ตั้งใจจากการที่นิ้วหรือมือจะไปโดน  และทีฝั่งผู้โดยสารมีจอขนาด 10.9 นิ้ว เป็นออปชั่นให้เลือก หากติดตั้งมา ผู้โดยสารก็สามารถควบคุมอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเพื่อสนับสนุนผู้ขับเช่นหาข้อมูลแผนที่นำทาง หรือจะเลือกเพลง เลือกระบบความบันเทิงได้เอง 

157909192180

และด้วยความเป็นรถยุคใหม่ หลายอย่างก็เป็นลูกเล่นที่ไม่ธรรมดา เช่น ระบบปรับอากาศ นอกจากปรับอุณหภูมิหรือแรงลมแล้ว การกำหนดทิศทางลมจะเอื้อมมือไปปัดไปหมุนที่ช่องลมไม่ได้นะครับ แต่จะต้องปรับผ่านหน้าจอ ซึ่งก็มีลูกเล่นจาก 3 โหมดคือ จะเอาแบบลมกระจายๆ หรือเป่าไปตรงตัวผู้ขับ หรือเลือกทิศทางตามใช้ชอบ ด้วยการลากนิ้วบนหน้าจอกำหนดทิศทางเอาเอง 

การกำหนดโหมดขับขี่ ช่วงล่าง หรือแม้แต่ระบบเบรกที่เลือกได้หลากหลาย ก็ปรับได้จากหน้าจอเช่นกัน

157909192329

ผมโดดขึ้น ไทคานน์ เทอร์โบ สีสด กรีน แมมบ้า ที่สวยงามบวกกับรูปทรงสะดุดตา ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนที่พบเห็นตลอดทาง 

มันเป็นรถ 4 ประตูที่ออกแบบให้ดูสปอร์ต ขนาดตัวถังใกล้เคียงกับรถ 4 ประตูรุ่นแรกคือ พานาเมร่า โดยไทคานน์สั้นกว่า แต่กว้างกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายกับเส้นทางการขับขี่ในยุโรปที่หลายช่วงเป็นทางแคบๆ แบบไม่มีเส้นแบ่งกลาง และพร้อมจะเจอรถได้ทุกประเภทตั้งแต่จักรยานไปจนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ 

กดปุ่มสตาร์ท รถยังเงียบกริบ จนกระทั่งเอื้อมมือไปกดคันเกียร์ซึ่งอยู่บนคอนโซลหน้าหลังพวงมาลัยเป็นเกียร์ D จึงเริ่มมีเสียงคำรามเบาๆ แน่นอนเป็นเสียงสังเคราะห์เพื่อให้รู้ว่ารถพร้อมเดินทางแล้ว กับระยะทางเกือบๆ 300 กม.

157909210139

พลังงานไฟฟ้าไม่ทำให้ผิดหวัง อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 3.2 วินาที และ 0-200 กม./ชม. แค่ 10.6 วินาที ทำให้มันเป็นรถที่ให้อารมณ์สปอร์ตในการขับเคลื่อนเต็มตัว กระฉับกระเฉงตื่นตัวตลอดเวลา ผมใช้เวลาปรับตัวกับมันสักครู่หนึ่งเพราะการตอบสนองที่มาเร็วกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์การกดคันเร่งแค่เบาๆ มันกระชากไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสนุก แต่คนนั่งข้างอาจะไม่สนุกนัก 

และเส้นทางที่ต้องผ่านภูเขาเกือบตลอดเส้นทางทำให้เห็นจุดเด่นที่สำคัญคือ เราสามารถเรียกอัตราเร่งได้ตลอดเวลาแม้จะอยู่ในช่วงไต่ขึ้นเนินก็ตาม นี่เป็นจุดเด่นที่เหนือกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์จำนวนมาก 

แม้จะมีน้ำหนักมากกว่า 2 ตัน แต่การติดตั้งแบตเตอรีไว้ใต้พื้นรถทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และการมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่ต่ำมากคือ 0.22 ช่วยให้รถมีความนิ่งในการขับขี่แม้จะใช้ความเร็วทะลุ 200 กม./ชม. และคล่องตัวสูงในเส้นทางที่คดโค้งไปมา รถนิ่งไม่มีออาการโอเวอร์ หรืออันเดอร์สเตียร์ ขณะที่แรงบิดที่สูงก็ช่วยให้ออกจากโค้งได้อย่างรวดเร็ว ส่วนพวงมาลัยเป็นอีกสิ่งที่ผมชอบ เพราะมีความแม่นยำสูง และให้อารมณ์สปอร์ตชัดเจน มีน้ำหนักพอควร ซึ่งก็เป็นสิ่่งที่ผมชอบอีกนั่นแหละ ส่วนใครที่ชอบนุ่มๆ เบามือ คงจะไม่ชอบใจนัก

157909210098

หลายๆอย่างทำให้ การควบคุมรถลัดเลาะไปตามเส้นทางภูเขาทำได้ง่าย จนกระทั่งน้องที่นั่งไปด้วยหันมาสะกิดว่า พี่ไม่ต้องใช้ความเร็วเต็มลิมิตของกฎหมายก็ได้นะ 

ครับ เส้นทางที่ผ่านป่าเขา ผ่านชนบทมีหลากหลาย และสูงสุดคือ 100 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่น้อยกับทางแบบนี้ 

สรุปสั้นๆได้ว่า ไทคานน์ เป็นอีวี ที่ขับแล้ว ไม่รู้สึกสูญเสียสิ่งที่ได้จากรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือจะพูดว่าได้อะไรหลายอย่างที่รถสันดาปภายในให้ไม่ได้ ก็ไม่ผิดครับ 

*****

157909210136