'เอสซีบี' อัดงบลงทุน 2 หมื่นล. เน้นร่วมทุนธุรกิจ หวังยกศักยภาพด้านดิจิทัล

'เอสซีบี' อัดงบลงทุน 2 หมื่นล. เน้นร่วมทุนธุรกิจ หวังยกศักยภาพด้านดิจิทัล

“ไทยพาณิชย์” จัดงบ 2 หมื่นล้าน ลุยลงทุนในธุรกิจใหม่ เน้นด้านดิจิทัล หวังช่วยยกขีดความสามารถในระยะข้างหน้า โดยลงทุนผ่าน “ SCB 10x” ย้ำเป็นงบคนละก้อนกับงบพัฒนาแบงก์ พร้อมรุกขยายลงทุนในเมียนมา ล่าสุดจับมือ “เอยา แบงก์” พัฒนาระบบโอนเงินระหว่างประเทศ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ธนาคารตั้งงบลงทุนเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ทั้งการเข้าไปลงทุนเองหรือการร่วมลงทุนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้จะช่วยสร้างนวัตกรรมหรือโนฮาวใหม่ๆ ให้กับธนาคาร โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

"เรามีแผนเข้าไปลงทุนอีกเยอะมากในหลายๆ บริษัท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนหลักร้อนล้านบาทต่อบริษัท โดยงบ 2 หมื่นล้านบาทนี้เป็นการตั้งไว้ ไม่เกี่ยวกับการลงทุนของแบงก์ซึ่งถือเป็นคนละก้อน หากอัพเกรดแบงก์ก็จะอยู่ในก้อนของแบงก์ แต่ก้อนนี้มีไว้เพื่อลงทุน สร้างธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนเพิ่มกับพาสเนอร์ เช่น การลงทุนผ่าน SCB 10x โดยที่ SCB 10x จะเป็นยานแม่ คอยทำหน้าที่ลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ เช่น สองบริษัทที่ประกาศลงทุนไปเมื่อต้นปี ก็อยู่ภายใต้ SCB 10x และงบลงทุนที่สร้างขึ้นมาก็ไม่ได้วางไว้ใช้ปีเดียวหมดหรือใช้เฉพาะปีนี้เท่านั้น"

นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ธนาคารยังมีความสนใจเข้าลงทุนในประเทศเมียนมา โดยจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ(Subsidiary Bank) ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ธนาคารเอยาวดี (Ayeyarwady Bank หรือ AYA Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์อันดับ 2 ของเมียนมา เพื่อร่วมมือพัฒนาบริการชำระเงินข้ามพรมแดนและการโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross Border Payments and Fund Transfer) โดยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศไทยและเมียนมา

ทั้งนี้หากดูรูปแบบการเข้าไปลงทุนในเมียนมา พบว่าในปัจจุบัน มีหลากหลายรูปแบบ เช่น หากเป็นการขอไลเซ่นส์ หรือใบอนุญาต เพื่อเปิดสาขา โดยจะใช้ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วราว 75 ล้านดอลลาร์ แต่หากเป็นการจัดตั้งบริษัทลูก จะใช้ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีขอบเขตการทำธุรกิจ ได้หลากหลาย เช่นทำธุรกิจที่เกี่ยวกับลูกค้ารายใหญ่ รายย่อย และมีสาขาได้สูงสุด 10 สาขาเป็นต้น

“สาเหตุที่เราสนใจโมเดล การเป็น subsidiary bank เพราะเราสามารทำธุรกิจได้อิสระ ตั้งต้นธุรกิจได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนในธุรกิจหรืออินฟราสตรัคเจอร์แบบเดิม สามารถไปเพียวดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องยึดขนบธรรมเนียมในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งตอนนี้เราอยู่ระหว่างการปรับตัวในการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา ถามว่าประเทศอื่นๆ เราสนใจมั้ย โดยเฉพาะในภูมิภาค เราก็สนใจ ที่ผ่านมาเราก็ทำไปเยอะ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่า สิ่งที่เราทำ เราทำอะไรเพื่ออะไร ได้อะไร และไม่เกินตัวเรา ดีนั้นการทดลองของเรา เราไม่หยอดใส่อะไรที่เป็นก้อน แต่ะละกระจาย เพื่อที่จะให้เราไม่เสี่ยงเกินไป”

  ปัจจุบัน AYA Bank เป็นแบงก์ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดอันดับสองในเมียนมา และมีช่องทางสาขา258 แห่ง มีลูกค้าจำนวน 2.5 ล้านบัญชี