เตรียมชงเอกสารเพิ่มเติมการนำเสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเข้าครม. ก่อนส่งคณะกรรมการมรดกโลกปลายเดือนนี้

 เตรียมชงเอกสารเพิ่มเติมการนำเสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเข้าครม. ก่อนส่งคณะกรรมการมรดกโลกปลายเดือนนี้

“ประวิตร” หนุนการขึ้นทะเบียน ชี้เป็นกลไกช่วยงานอนุรักษ์ และหนุนการท่องเที่ยวได้

โดยในวันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับทราบและพิจารณาแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน

พลเอก ประวิตร ได้กล่าวสนับสนุนการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

รมว.ทส. วราวุธ กล่าวว่า หลังมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ได้มีการจัดทำเอกสารเพิ่มเติมการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกแล้ว และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจัดส่งเอกสารดังกล่าวต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 

ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 44 ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กุยบุรี เฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม่น้ำภาชี ซึ่งหากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก จะนับเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแหล่งที่ 3

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกคราวล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้มีการพิจารณาการนำเสนอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศอีกครั้งของประเทศไทยนับตั้งแต่มีความพยายามมาตั้งแต่ปี 2554

แต่คณะกรรมการมรดกโลกได้มีข้อท้วงติงและคำแนะนำในสามประเด็นหลักๆ ซึ่งประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ทางคณะกรรมการมรดกโลกยังมีความห่วงใย และต้องการให้ไทยกลับไปแก้ไขโดยการปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ให้เรียบร้อยจนไม่มีข้อกังวลหลงเหลือ ก่อนนำเสนอพื้นที่กลับมาเพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องแนวเขตแดนไทย-พม่าที่ยังไม่ได้ข้อยุติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งแต่การประชุมมรดกโลกในปี 2559 ซึ่งประเทศไทยได้พยายามแก้ไขหาข้อยุติ โดยได้ตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับพม่าก่อนการประชุมที่อาเซอร์ไบจาน ด้วยการปรับลดขนาดพื้นที่ของกลุ่มป่าที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามแนวชายแดนลงโดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่หลักของกลุ่มป่า

แต่การปรับลดดังกล่าวกลับเป็นข้อกังวลใหม่ที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบเชิงนิเวศที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกของพื้นที่ เพราะการปรับลดพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนลดลงไปประมาณ 15% คณะกรรมการฯ ต้องการให้มีการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกดังกล่าว