เล็งเพาะต้นกล้า 'กระท่อม' แจกรณรงค์ปลูก

เล็งเพาะต้นกล้า 'กระท่อม' แจกรณรงค์ปลูก

"สมศักดิ์" ขีดเส้น มิ.ย. 63 กฎหมายผ่านสภาฯ ปลดล็อกกระท่อมพ้นยาเสพติด ประสานกระทรวงทรัพย์ฯ เพาะต้นกล้ากระท่อม "พันธุ์นาสาร" แจกชาวบ้าน รณรงค์ปลูกสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทดแทนการนำเข้ายา-มอร์ฟีน

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 63 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการเสวนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ..

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายมีความพร้อมประมาณ 95 % หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 22 ม.ค.จะนำร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) ที่มีการแก้ไขปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพให้โทษ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ส. และคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 มี.ค. จากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณารายละเอียด ก่อนนำกลับเข้า ครม. เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ตามขั้นตอน เบื้องต้นเชื่อว่าคงไม่มีใครคัดค้านการปลดล็อกกระท่อม แต่ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะผ่านสภาฯ 3 วาระรวด ยังต้องมีการตั้งคณะกรรมมาธิการขึ้นมาศึกษา จึงประเมินว่าสภาฯ จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จประมาณวันที่ 10 มิ.ย. 63

“กระท่อมถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2485 แม้จะมีความพยายามยกเลิกแต่ยังติดขัดเหตุผลบางอย่าง ปัจจุบันในสภาฯ ไม่มี ส.ส.คนใดคัดค้านการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติด ตรงกันข้าม ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า มีการศึกษาให้ยกเลิกกระท่อมตั้งแต่ ปี 2546. เหตุใดจึงยังทำไม่ได้ ผมไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่รู้ไส้ในว่ากฎหมายต้องประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ทำได้คือกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน ว่าการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติดจะสำเร็จเมื่อใด และผมยังคาดหวังให้มีการพัฒนาวิจัยกระท่อม เพื่อนำไปเลิกยาบ้า ยาไอซ์ ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก เรื่องกระท่อมเราช้ากว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะคุณสมบัติดีๆ มีอยู่มาก ถ้าช้าก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะจะไปกระทบผลประโยชน์ เราจึงต้องเดินหน้าเรื่องกระท่อมให้เร็วที่สุด” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงสถิติคดีที่เกี่ยวกับกระท่อม ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.- ต.ค. 62 มีจำนวน 50,000 คดี ผู้ต้องหาบางรายติดคุก 15 วัน บางรายเสียค่าปรับ หากคิดเป็นค่าใช้จ่ายทางคดีนั้น รัฐจะมีค่าใช้จ่ายทางคดีที่ต้องจ่ายให้กับตำรวจ อัยการ และศาล ประมาณคดีละ 20,000 บาท หากกระท่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจะสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐไปได้ 1,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อถามถึงการคัดค้านไม่ให้ปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อขัดข้องมีเพียงเรื่องของผลประโยชน์เรื่องเดียวเท่านั้น เพราะกระท่อมมีสรรพคุณในเรื่องการบรรเทาอาการปวด ใช้ทดแทนมอร์ฟีน หากมีการพัฒนาเป็นระบบอุตสาหกรรมทางยาก็จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและลดการนำเขัายา ส่วนข้อกังวลเรื่องการลักลอบนำเข้าใบกระท่อมจากต่างประเทศ นั้น เชื่อว่าหากมีการปลดล็อกพืชกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดแล้ว ป.ป.ส. จะหาทางแก้ปัญหาได้ อาจจะให้กระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพาะพันธุ์ ต้นกล้ากระท่อมแจกประชาชนให้ปลูก แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสมด้วยว่าจะนุญาตให้ปลูกหมู่บ้านละกี่ที่ต้น ตอนนี้มีต้นกระท่อมที่จะเป็นจะใช้เป็นพันธุ์ที่ดี สามารถเพาะแจกจ่ายให้ประชาชนได้แล้ว โดยอยู่ในแปลงนำร่องที่ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กระท่อมยังไม่ได้ปลดล็อกก็อย่าเพิ่งอวดออ้างการปลูกและการใช้ทางยา ขอให้อดใจรอ หากปลดล็อกแล้วมีการรณรงค์ให้ปลูกค่อยปลูก ตอนนี้ใครปลูกก่อนต้องถูกตัด

ด้าน นายวิชระ อำพนธ์ ที่ปรึกษาองค์การอาหารและยา (อ.ย.) กล่าวว่า ประเทศไทยออกกฎหมายควบคุมกระท่อม เพราะในอดีตกระท่อมกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีฝิ่น ทำให้กระท่อมถูกกำหนดเป็นยาเสพติดจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมามีความพยามปลดกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติด แต่ต้องสะดุดเมื่อถูกตรวจสอบพบว่ามีการนำกระท่อมไปผสมเป็น 4x100 มีการใช้อย่างแพร่ระบาด และเผยแพร่สูตรปรุงยาผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เมื่อมีการปลดล็อกกระท่อมก็ยังจำเป็นต้องควบคุม โดยอนุญาตให้ใช้ตามใบสั่งยาของแพทย์ ห้ามไม่ใช้เพื่อสันทนาการ
ขณะที่ นายอนันต์ชัย อัศวเมฆิน อ.ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กระท่อมออกฤทธิ์ เหมือนฝิ่น แต่เสพติดน้อยกว่ามาก กรณีการปลดล็อกกระท่อมของไทยมีแนวโน้ทที่ดี เพราะไม่เดินตามฝรั่งแต่ทำตามแบบวิถีไทย ต่างจากกัญชาที่เลียนแบบต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีแพทย์แผนไทย หลังปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ครบ 6 เดือนจะมีการประเมิน ผล ซึ่งจะพบว่าระเบียบที่ออกไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย