ผู้บริโภค 'ร้องเรียน' เรื่องอะไรบ้างปี 2562

ผู้บริโภค 'ร้องเรียน' เรื่องอะไรบ้างปี 2562

เจาะลึกสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2562 เรื่องอะไรที่ผู้บริโภคร้องเรียน-ขอคำปรึกษามากที่สุด

ต้องบอกเลยว่า ทุกวันนี้เดินไปตามตลาดสด ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่เลื่อนนิ้วบนสมาร์ทโฟน เราจะเห็นสินค้าหลากหลายประเภทวางขายกันเยอะแยะไปหมด ไม่รวมถึงโฆษณาที่ผ่านเข้ามาทุกช่องทาง ทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนท้องถนน ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือในเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์

แน่นอนว่าโฆษณาก็เย้ายวนชวนให้เราๆ เกิดความอยากซื้อ ที่มาพร้อมกับวลีเด็ดว่า ของมันต้องมี หลายคนกลายเป็นสายเปย์ต้นเดือน และมาประหยัดปลายเดือน แต่บางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าที่มาของสินค้าคือที่ไหน ผลิตและหมดอายุเมื่อไร มีมาตรฐานหรือไม่ รู้เพียงแต่ว่าอยากมี อยากได้ และต้องซื้อ

หรือบางเรื่องที่บางคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ การคมนาคมขนส่งสาธารณะที่ต้องพึ่งพาในทุกๆ วัน การใช้บริการสาธารณสุขที่มีตัวเลือกไม่มาก หนีไม่พ้นโรงพยาบาลตามสิทธิ์ หรือดีหน่อยหากยอมจ่ายเงินเองเพื่อซื้อประกันไว้ รวมถึงเรื่องโทรคมนาคม หรือการสื่อสาร ที่มียักษ์ให้บริการอยู่เพียงไม่กี่ราย

ทำให้ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงได้ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคทั่วประเทศ รวบรวมข้อมูลและรายงานสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2562 โดยพบว่าตลอดทั้งปีมีผู้บริโภคมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนกว่า 4,182 ราย

157908428642

ซึ่งสามารถสรุปปัญหาออกมาได้ราว 7 ด้าน อันดับ 1 คือ อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 1,534 ราย หรือ 36.68% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาเดิม คือ พบการโฆษณาเท็จ หลอกลวง หรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงเชื่อ ยกตัวอย่างโฆษณาเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วผิวขาวกระจ่างใสภายใน 5 นาที หรือภายใน 3-7 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลาก หรือไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยารักษาโรค และที่สำคัญกลุ่มคนที่มักตกเป็นเหยื่อของโฆษณาเกินจริงนี้ คือกลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน เนื่องจากพบว่าโฆษณาเกี่ยวยาหรืออาหารเสริมมักทำผ่านโทรทัศน์และวิทยุชุมชน

ทั้งนี้จากรายงาน มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ เพราะแม้ว่าจะมีการแจ้งเรื่องไปถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้ตรวจสอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และพบว่าสินค้าบางอย่างก็ยังไม่ได้เอาออกไปจากตลาดหรือร้านค้าเลย

ปัญหารองลงมา อันดับ 2 เป็นเรื่องของการบริการสาธารณะ 19.61% ที่พบมากที่สุดเป็นเรื่องของรถรับ-ส่งนักเรียน ที่ผู้ประกอบการนำรถประเภทอื่นมาใช้ผิดประเภท เช่น ใช้รถสองแถวรับ-ส่ง แต่ไม่มีป้ายระบุไว้ รวมถึงนำรถที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ บ้างก็พบเบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ก็เป็นปัญหากลุ่มรถสาธารณะ เช่น รถตู้ รถทัวร์ เป็นต้น ที่เรามักจะเห็นรายงานข่าวออกมาเป็นระยะๆ ทั้งคนขับรถใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ ขับรถเร็วเกินไป พูดจาไม่สุภาพ หรือสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันปัญหาการบริการสาธารณะ ยังรวมถึงกลุ่มสายการบิน ที่มักมีการร้องเรียนเรื่องความล่าช้าด้วย

ขณะที่อันดับ 3 เป็นเรื่องของการบริการสุขภาพและสาธารณสุข 16.81% เช่น การให้คำปรึกษา การย้ายสิทธิ์ และการสอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะไม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วนหรือเพียงพอ ตามด้วยการเงินการธนาคาร 10.43% สินค้าและบริการทั่วไป 8.18% อสังหาริมทรัพย์ 3.23% สื่อและโทรคมนาคม 1.17% ตามลำดับ และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกกว่า 3.90%

อย่างไรก็ตาม การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป ควรเริ่มต้นจากตัวผู้บริโภคเอง ก่อนซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ควรตรวจสอบหรือดูรายละเอียดให้แน่ใจ หรือหากไม่แน่ใจอาจสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้กับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ