วีเวิร์คเดินหน้าขยายธุรกิจ 'โค-เวิร์คกิงสเปซ' สิงคโปร์

วีเวิร์คเดินหน้าขยายธุรกิจ 'โค-เวิร์คกิงสเปซ' สิงคโปร์

'ทูโรชาส ฟูอัด' กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของวีเวิร์ค บริษัทในธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการปล่อยเช่าพื้นที่ในอาคาร เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ'โค-เวิร์คกิงสเปซ'ในสิงคโปร์

การประกาศย้ำเดินหน้าขยายธุรกิจของฟูอัด มีขึ่้นหลังจากเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว วีเวิร์ค ประกาศปลดพนักงาน 2,400 คนทั่วโลก หรือเกือบ 20% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อลดต้นทุน หลังจากประสบปัญหาด้านความเชื่อมั่น จนทำให้มูลค่าตลาดลดลงหลายเท่าตัวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ วีเวิร์ค ยังรับเงินช่วยเหลือจากซอฟต์แบงก์ บริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่จากญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 9,500 ล้านดอลลาร์ (286,710 ล้านบาท)ซึ่งจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นรายนี้ถือหุ้นในวีเวิร์คในสัดส่วน 80% เพื่อเป็นหลักประกันว่าวีเวิร์คจะปรับปรุงธุรกิจของตัวเองตามที่ซอฟต์แบงก์กำหนดแนวทางการทำธุรกิจใหม่

หลายปีที่ผ่านมา “อดัม นิวแมนน์” ที่เคยเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ร่วมก่อตั้งของวีเวิร์ค แตกธุรกิจของบริษัทไปหลายอย่างมาก ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลจนถึงธุรกิจที่พักอาศัย ทั้งยังขยายธุรกิจไปเร็วเกินไปโดยที่ไม่เห็นผลกำไร ทั้งยังนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ส่วนตัว อย่างเช่น บ้าน 5 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 80 ล้านดอลลาร์ (2,415 ล้านบาท)

157904946526

นิวแมนน์ ซึ่งลาออกไปเมื่อเดือนก.ย.ปี 2562 หลังถูกสื่อแฉพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายเรื่องรวมทั้งเสพยา ติดเหล้าและการคุยโม้โอ้อวดว่าวีเวิร์คช่วยแก้ปัญหาความยากจนของโลกได้ และกู้วิกฤติผู้อพยพได้ด้วย เคยเสนอแผนนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนเข้าบริษัทให้ได้มากขึ้น แต่เมื่อส่งงบการเงินให้กับหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) กลับพบว่าวีเวิร์ค ไม่เคยมีกำไรเลย แถมสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทยังน่าเป็นห่วง เมื่อเรื่องนี้เผยแพร่ออกมา จนถึงหูนักลงทุน ความวิตกจึงแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้มูลค่าของบริษัทลดลงฮวบฮาบ จนต้องระงับแผนการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ในที่สุด

ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ซอฟต์แบงก์สูญเงินสด 8,900 ล้านดอลลาร์ (268,664 ล้านบาท) ที่เคยลงทุนให้กับวีเวิร์ค ซึ่งนายมะสะโยชิ ซน ซีอีโอของซอฟต์แบงก์ กล่าวว่า การสูญเสียเงินลงทุนครั้งนี้เป็นเพราะการประเมินที่ผิดพลาดและการมองข้ามปัญหาของวีเวิร์ค

ในวันนี้ ฟูอัด ย้ำว่าแม้จะเกิดปัญหามากมายในปีที่แล้ว แต่ปีนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจปล่อยเช่าพื้นที่ในอาคารต่อไปแต่จะลดขนาดการการขยายธุรกิจลง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ แต่ก็ยอมรับว่าการเผชิญปัญหาในปีที่แล้ว ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้น โตขึ้น และนับจากนี้ไป วีเวิร์คจะเน้นทำธุรกิจให้เติบโตอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน

ทั้งนี้ ความสามารถในการทำงานและแบ่งปันประสบการณ์ของมนุษย์ ที่มีความชอบเหมือนกันและเข้ากันได้ ช่วยให้เกิดรูปแบบที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อผนวกกับความจริงที่ว่า 65% ของคนทำงานทั่วโลกเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคมิลเลนเนียล มีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น ธุรกิจส่วนใหญ่จึงชื่นชอบการใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซ เพื่อทำงานร่วมกันเป็นชุมชน หรือโครงการที่ใช้อาคารสถานที่ร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกัน

ปัจจุบัน ทั่วโลก มีการใช้โคเวิร์คกิ้งสเปซ ร่วมกันมากกว่า 19,000 แห่ง และมีสมาชิกมากกว่า 1.74 ล้านคน อุตสาหกรรมโคเวิร์คกิ้งสเปซ ถือเป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ที่สนับสนุนประสบการณ์ที่ดีของสตาร์ทอัพ และฟรีแลนซ์ต่างๆ รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่

157904944488

แนวโน้มของการสร้างชุมชนและการส่งเสริมความร่วมมือจากการใช้เวิร์คกิ้งสเปซ กำลังเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่นาน การพัฒนาด้านเอไอ การจดจำเสียงและภาพ รวมทั้งไอโอที จะเข้ามาแทนที่ความต้องการของคอมพิวเตอร์ ส่วนเทคโนโลยีไอทีสวมใส่ จะนำไปสู่การมีสถานที่ทำงานในฝันที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่กับที่อีกต่อไป แต่สามารถจะเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมกับการทำงานในทุกๆ ที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้มีบรรยากาศการทำงานที่ขึ้นอยู่กับกิจกรรม

ขณะที่ธุรกิจโค-เวิร์คกิง สเปซในสิงคโปร์ โดยเฉพาะในย่านธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีจำนวนกว่า 200 แห่งและบริหารโดยบริษัทต่างๆประมาณ 100 แห่ง และปีที่แล้ว คอลลิเออร์ส บริษัทให้บริการข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก ระบุว่า พื้นที่สำหรับทำโค-เวิร์คกิง สเปซเพิ่มขึ้นสามเท่านับตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2562 มีพื้นที่ที่ถูกนำไปทำเป็นพื้นที่ให้เช่าโดยรวมทั่วโลก 3.7 ล้านตารางฟุต