'ซีพี' ลุ้นกองทัพเรือเปิดซอง 17 ม.ค. มั่นใจชนะประมูลอู่ตะเภา

'ซีพี' ลุ้นกองทัพเรือเปิดซอง 17 ม.ค. มั่นใจชนะประมูลอู่ตะเภา

กองทัพเรือ เปิดซองเทคนิค “ซีพี” ชิงอู่ตะเภา ผ่านฉลุย เดินหน้าเปิดซองราคา 17 ม.ค.นี้ เผยคำให้การศาลปกครองสูงสุด “ซีพี” มั่นใจเป็นผู้ยื่นผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุด แซงหน้ากลุ่ม “บีทีเอส-แกรนด์ฯ”

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วานนี้ (15 ม.ค.) เป็นครั้งแรกหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคืนสิทธิการประมูลให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี)

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวรับทราบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และได้มีการหารือถึงแนวทางการประมูลหลังคำพิพากษา รวมทั้งมีการนำข้อเสนอซอง 2 ด้านเทคนิค  (กล่องที่ 6) ของกลุ่มซีพีมาพิจารณา และเห็นชอบให้กลุ่มซีพีผ่านการพิจารณาซอง 2 

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ กำหนดให้มีการเปิดซอง 3 ข้อเสนอด้านราคา ของกลุ่มซีพีในวันที่ 17 ม.ค.นี้ และเมื่อเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของกลุ่มซีพีครบทุกกลุ่ม ก็จะนำรายละเอียดไปประเมินคะแนนร่วมกับข้อเสนอของผู้ยื่นซองประมูลอีก 2 ราย ที่เปิดซองข้อเสนอด้านราคาแล้ว  คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยผู้ที่เสนอผลตอบแทนรัฐสูงที่สุดจะชนะการประมูลและเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับรัฐก่อนที่จะลงนามสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งมีการประเมินว่าจะได้ชื่อผู้ชนะการประมูลภายในเดือน ม.ค.นี้

สำหรับการเปิดซองด้านราคาเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2562 ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium ได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมการเปิดเอกสาร โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเสนอผลตอบแทนรัฐ 3.01 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่ม Grand Consortium เสนอผลตอบแทนรัฐ 1 แสนล้านบาท

“ซีพี”มั่นใจผลตอบแทนรัฐ

รายงานข่าวระบุว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ความยาว 65 หน้า ได้ระบุคำให้การของผู้ฟ้องคดี (กลุ่มซีพี) โดยระบุว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเชื่อมั่นว่าหากซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รับการพิจารณาอย่างครบถ้วนและเป็นธรรมแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้รัฐด้วย โดยเฉพาะในส่วนข้อเสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าก็ได้ยื่นข้อเสนอในจำนวนที่ไม่ต่ำกว่าที่รัฐประสงค์จะได้รับตลอดอายุสัญญา

ในทางตรงกันข้ามหากผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่ได้รับการพิจารณาอย่างครบถ้วนเพียงเพราะประเด็นเรื่องเวลาดังกล่าว รัฐอาจต้องสูญเสียประโยชน์จากมติและการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีอย่างน้อยขั้นต่ำจะเป็นเงินเท่ากับผลต่างระหว่างจำนวนเงินประกันรายได้ขั้นต่ำที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเสนอ กับจำนวนเงินประกันรายได้ขั้นต่ำที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือกลุ่ม Grand Consortium เสนอให้แก่รัฐ

นอกจากนี้ การรับพิจารณาซองข้อเสนอของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าไว้ทั้งหมด (รวมถึงซองข้อเสนอกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9) ไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า การรับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าทั้งหมดจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าได้เปรียบผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด และการขยายเวลาออกไปไม่ได้ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดสามารถล่วงรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นเพราะซองข้อเสนอไม่ถูกเปิดพิจารณา

รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งห้าตระหนักถึงกฎและกติกาในการเข้าร่วมการเสนอราคาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกชนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ

สำหรับผู้ฟ้องคดีทั้งห้าประกอบด้วย บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮดิ้ง จำกัด บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทโอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่วนผู้ถูกฟ้อง คือ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ

เกณฑ์ขั้นต่ำ4.2หมื่นล้าน

สำหรับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐ รวมถึงจำนวนเงินที่จะจ่ายให้กับภาครัฐในแต่ละปี ซึ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนของภาครัฐสุทธิ (เมื่อหักเงินลงทุนภาครัฐแล้ว) ต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ 42,725 ล้านบาท และผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอแบบจำลองทางการเงินที่แสดงรายได้รวมในแต่ละปีตลอดอายุโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขสำคัญกำหนดด้วยว่า หากในข้อเสนอด้านราคามีข้อความหรือตีความเป็นเงื่อนไข คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ จะไม่พิจารณาเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้นเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องระบุเพียงข้อมูลตัวเลขการเงินเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้พิจารณาประเมินผู้ที่เสนอผลตอบแทนดีที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินและเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาซอง 4 ข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมิน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ สงวนสิทธิที่จะพิจารณาซอง 4 ของผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับการคัดเลือกหรือไม่ก็ได้