'ไลน์' จนไร้ความสามารถในการใส่ใจ

'ไลน์' จนไร้ความสามารถในการใส่ใจ

จะทำอย่างไรเมื่อเครือข่ายสังคมทำให้คน "ใส่ใจกันน้อยลง" โดยเฉพาะการทำงาน ที่เดี๋ยวนี้ผู้บริหารมักจะสั่งงานผ่านออนไลน์ จนอาจกลายเป็นคนไม่ใส่ใจ หรือไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ถ้าถามว่าเพื่อนไลน์เยอะแต่เพื่อนสนิทมากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบว่าเพื่อนสนิทแทบหาไม่ได้เลย คงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมได้แล้ว

เพราะมีผลงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้บอกว่า ความสุขในการทำงานนั้น เรื่องสำคัญที่สุดกลับกลายเป็นการมีเพื่อนร่วมงานที่ใส่ใจกันและกัน รู้ว่าเรื่องไหนน่าสบายใจ เรื่องไหนน่าลำบากใจ ผู้บริหารที่เดี๋ยวนี้จะสั่งการอะไรชอบสั่งผ่านไลน์ให้ระวังให้ดี เพราะพนักงานที่เชื่อว่ากำลังทำงานกับผู้บริหารที่ไม่เห็นอกเห็นใจพนักงาน จะมีผลิตภาพต่ำกว่าคนที่เชื่อว่าตนเองได้รับการใส่ใจจากผู้บริหาร ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะถ้าท่านเข้าอกเข้าใจในบริบทของชีวิตฉัน ท่านสั่งการในเรื่องที่ไม่ทำให้ชีวิตฉันยากเย็นขึ้น ฉันก็ทำงานให้ท่านสุดกำลังที่ฉันมี

เหตุที่เครือข่ายสังคมทำให้คนใส่ใจกันน้อยลง เพราะเครือข่ายสังคมลดทอนประสบการณ์บางอย่างที่คนต้องมีเพื่อที่จะเก่งขึ้นในการเข้าอกเข้าใจคนอื่น เข้าใจแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราแบบที่ฝรั่งที่เชื่อเรื่อง Design Thinking เรียกว่า Empathy ไม่ใช่เข้าใจแบบเวทนาหรือสงสารซึ่งแตกต่างกันเข้าใจว่า เขาบ้านอยู่ไกลรถติดตั้งแต่ตี 5 เขาตื่นตี 3 เพื่อเข้ามาทำงานในสำนักงานให้ทัน 8 โมงเข้าใจว่า บ่ายๆ ก็มีง่วงนอนบ้างเป็นธรรมดาไม่ใช่เวทนาว่า ต้องตื่น 3-4 เพราะยากจนเกินกว่าจะหาที่อยู่ในเมืองได้

ทำอย่างไรจะทำให้เราไม่สูญเสียประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเข้าอกเข้าใจกับคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน คำตอบง่ายๆ คือรักษาประสบการณ์ในการรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นเอาไว้ให้ได้ คุยกัน มองกันแบบคนกับคน ให้มากกว่าอวาตาคุยกับอวาตา โดยเฉพาะเมื่อต้องขอโทษ ขอบคุณ และให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน

ถ้าเป็นผู้บริหารที่ชอบขอบคุณและให้กำลังใจพนักงานผ่านไลน์เป็นสรณะ อะไรนิดหน่อยก็แชทขอบคุณด้วยสารพัดสติกเกอร์ที่สะสมไว้ ให้ลองเปลี่ยนมาขอบคุณตอนเจอหน้าเจอตากันบ้าง ถ้ารู้สึกว่าพูดออกมายากกว่ากดสติกเกอร์ แสดงว่าท่านเริ่มสูญเสียประสบการณ์สำคัญสำหรับสร้างความเป็นผู้นำที่ดี สามีที่เริ่มรู้สึกว่าใช้สติกเกอร์ขอโทษภรรยาในเรื่องที่ตนไม่พึงกระทำนั้น ง่ายกว่าขอโทษกันต่อหน้าต่อตา วันหน้าอาจไม่มีภริยาให้ขอโทษ

การแสดงความรู้สึกด้วยตัวอวาตาหรือสติกเกอร์ที่กลายเป็นที่ชื่นชอบสำหรับบางคนนั้น เป็นเพราะเป็นการกระทำที่กระทำได้โดยเราไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในการแสดงความรู้สึกนั้นไม่ต้องบังคับตนเองว่าจะตีสีหน้าใช้น้ำเสียง หรือแม้แต่กำหนดท่าทางการเคลื่อนไหวใดๆ เราสามารถขอบคุณผ่านสติกเกอร์ในขณะที่หน้าตาเรียบสนิทปราศจากแววตาแห่งการชื่นชม เราปล่อยให้ตัวอวาตา อิโมจิ และสติกเกอร์ทำหน้าที่นั้นแทน เราขอโทษ หรือขอบคุณใครต่อหน้าต่อตานั้นต้องใช้สมองใช้การประสานงานระหว่างสมองกับสังขารมากมายนัก จะแสดงความเสียใจกับใครต่อหน้าต่อตาต้องประสานระหว่างสีหน้าน้ำเสียงแววตาท่าทางมากกว่าการกดส่งสติกเกอร์อาร์ไอพีหลายเท่าตัว

ถ้าลดประสบการณ์เหล่านี้ลงมากเกินไปความใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้สึกและตัวตนของคนอื่นจะสูญหายไปที่ละเล็กทีละน้อยเราจะค่อยๆ กลายเป็นคนที่เห็นหน้าเห็นท่าทางได้ยินน้ำเสียงคนอื่นแล้วเข้าไม่ถึงใจเขา เห็นตัว เห็นตา ได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจใจของเขา ในทำนองเดียวกับที่แข่งขันอีสปอรต์ทั้งวันทั้งคืนในเกมส์สู้ได้สารพัด วิ่งข้ามเขา ว่ายน้ำข้ามทะเลได้สารพัด แต่ในโลกจริงแค่เดินไปหน้าหมู่บ้านก็บ่นแล้วบ่นอีกว่าเหนื่อยบ้างร้อนบ้าง

หันกลับมาสะสมประสบการณ์สำหรับการเข้าอกเข้าใจคนกันมากขึ้นดีกว่าแรกๆ อาจจะดูขัดๆ บ้างที่จะขอโทษขอบคุณ หรือปลอบใจใครสักคนต่อหน้าต่อตา หลังจากให้สติกเกอร์ทำหน้าที่นี้มานาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยไม่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการขอโทษขอบคุณและให้กำลังใจ เพียงแต่ให้พยายามรักษาสมดุลระหว่างตัวจริงกับอวาตาไว้บ้าง เพื่อให้ตัวเรายังน่าคบเมื่อเจอะเจอไม่ใช่เป็นแค่อวาตาที่น่าคบลดเลิกการใช้สติกเกอร์ขอบคุณ หรือขอโทษถ้ากระทำต่อหน้าต่อตาไม่ได้อย่างน้อยก็บันทึกคลิปบันทึกภาพตัวเองส่งไปแทนสติกเกอร์จะดีกว่า

สมารท์โฟนที่เรามีใช้กันอยู่มีขีดความสามารถมากมายที่จะเสริมการเข้าอกเข้าใจผู้คน เพียงแต่เราได้พยายามแค่ไหน ในการใช้ความสามารถเหล่านั้นมาเพิ่มประสบการณ์ในการใส่ใจคนอื่น