ไฟป่าออสเตรเลีย กับการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6

ไฟป่าออสเตรเลีย กับการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6

ไฟป่าออสเตรเลีย คือสัญญาณบอกเหตุล่าสุดว่าหายนะมารอเราอีกไม่นาน เหล่านักวิทยาศาสตร์มองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ตอกย้ำการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์อย่างรวดเร็ว และกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เปลวไฟมหึมาที่เผาผลาญผืนป่าทั่วทวีปออสเตรเลีย โดยเฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐวิกตอเรีย ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงวันนี้ยังไม่ดับ สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนทั้งโลกว่าเกิดอะไรขึ้น

พื้นที่ถูกไฟป่าเผามีขนาด 13 ล้านเฮกตาร์ ประมาณ 130,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศไทย ถือเป็นหายนะการทำลายธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี มากกว่าไฟป่าในป่าอะเมซอน ทวีปอเมริกาใต้เมื่อไม่นานมาน

ไม่ใช่เฉพาะต้นไม้ที่โดนพระเพลิงล้างผลาญ แต่สัตว์จำนวนมากหนีไฟไม่ทัน หรือไม่รู้จะหนีไปทางไหน สุดท้ายบาดเจ็บล้มตายในกองเพลิงอย่างน่าอนาถเกือบ 500 ล้านตัว 

สัตว์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งเคลื่อนที่ช้า อาทิ แมลง หอยทากนานาชนิด แม้แต่สัตว์บกก็แทบจะไม่มีโอกาสรอด หรือนกก็ไม่สามารถบินหนีไฟได้ง่ายๆ เพราะไม่เหลือต้นไม้ให้จับคอน สร้างรัง และหาอาหารอีกต่อไป

ออสเตรเลียเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงอย่างยิ่งยวด การสูญเสียครั้งนี้จึงเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก

นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่า เหตุการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์อย่างรวดเร็วในช่วงเวลานี้ ว่าได้ก้าวไปสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 (the sixth mass extinction) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

  • อะไรคือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่ออุบัติขึ้นแล้ว คือหายนะของจริง ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ พืช สัตว์ แทบทุกชนิดต้องสูญพันธุ์ราว 3 ใน 4 ของชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ที่มีอยู่ทั้งหมด "ในระยะเวลาอันสั้น" ซึ่งในทางธรณีกาล (geologic time) หมายถึง ไม่เกิน 2.8 ล้านปี คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว แทบจะล้างโลกกันทีเดียว

ที่ผ่านมาประมาณ 4,500 ล้านปีของอายุของโลกใบนี้ ผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วห้าครั้ง เมื่อประมาณ 540 ล้านปีก่อน ในยุคแคมเบรียน สิ่งมีชีวิตในทะเลได้เริ่มแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มีชนิดพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนกระทั่งการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งแรกเกิดเมื่อประมาณ 450 ล้านปีในปลายยุคออร์โดวิเชียน สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ยังมีวิวัฒนาการอาศัยอยู่ในน้ำ สูญพันธุ์ไป 60-70 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากเป็นยุคน้ำแข็งปกคลุมทั่วโลก น้ำทะเลกลายเป็นก้อนน้ำแข็งยักษ์ ทำให้น้ำทะเลลดระดับลงไปร่วมร้อยเมตร สิ่งมีชีวิตในน้ำจึงแทบจะสูญพันธุ์

ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ 360 ล้านปี ในปลายยุคเดโวเนียน สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำหายไป 70 เปอร์เซ็นต์ ปะการังสูญพันธุ์เกือบหมด นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

แต่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่สามถือว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด เกิดตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนประมาณ 250 ล้านปี ได้ฉายาว่า เป็นมารดาแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหายไปถึง 97 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะแมลงยักษ์และหอยไทโรไบค์ สาเหตุมาจากการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ในไซบีเรีย หรืออุกาบาตชนโลก ทำให้เกิดวิกฤติโลกร้อน

ครั้งที่สี่เกิดในสมัยจูแรสสิกเมื่อ 200 ล้านปี ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่ตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดภาวะโลกร้อน สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครึ่งหนึ่งหายไป และทำให้ไดโนเสาร์แพร่พันธุ์ครองโลก

การสูญพันธุ์ครั้งที่ห้า น่าจะเป็นที่รู้จักของคนมากที่สุด เกิดในยุคครีเตเชียส เมื่อ 65 ล้านปีก่อน จากอุกาบาตรชนโลกบริเวณอ่าวเม็กซิโก ได้ทำให้เกิดเชื้อไฟกระจัดกระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์พบเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ปริมาณมหาศาลในฟอสซิลจากยุคนี้ อันเป็นหลักฐานชี้ว่าเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ซึ่งลุกลามครอบคลุมพื้นที่ป่าส่วนมากของโลก

สิ่งมีชีวิตประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ สูญพันธุ์ทันที รวมถึงไดโนเสาร์ทุกชนิดบนโลกหายวับไป หลังจากไฟป่าเผาผลาญจนเกิดทำให้ฝุ่นปกคลุมโลกเป็นเวลานาน แสงแดดส่องลงมาไม่ถึง อากาศหนาวเย็นผิดปกติติดต่อกันอีกนาน เรียกว่า เหมันตนิวเคลียร์ nuclear winter เพราะสัตว์ที่รอดจากไฟป่าก็ล้มตายด้วยความหนาวเย็นจนสูญพันธุ์ไปอีกจำนวนมาก

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การสูญพันธุ์ตามธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการวิวัฒนาการ เพราะเปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ อาทิ หากไดโนเสาร์ผู้เคยครองโลกมาหลายร้อยล้านปีไม่สูญพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ก็จะไม่มีโอกาสแจ้งเกิดมาเป็นเจ้าโลกนี้แทนได้

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นทุก 100 ล้านปี จากเหตุภัยทางธรรมชาติ ภูเขาไฟระเบิดรุนแรง อุกาบาต พุ่งชนโลก ฯลฯ แต่การสูญพันธุ์ใหญ่ล่าสุดมาเร็วกว่าที่คิด

ปัจจุบันนี้ โลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก สาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากน้ำมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ที่น่าตกใจคือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งนี้ มีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีตถึง 100-10,000 เท่า สาเหตุมาจากคือการไล่ล่าของมนุษย์ การทำลายป่า ปัญหามลพิษโลก และปัญหาโลกร้อนที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง และอุณหภูมิสูงผิดปกติ ที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืช อย่างน้อย 3 ใน 4 ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องสูญพันธุ์และหายไปจากโลกใบนี้

ในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปถึงร้อยละ 50 นั่นหมายความว่าก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 22โลกของเราอาจไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่ นอกจากมนุษย์

หายนะมารอเราอีกไม่นาน ไฟป่าออสเตรเลียคือสัญญาณ บอกเหตุล่าสุด

ที่มา : คอลัมน์สมรู้ร่วมคิด โดยวันชัย ตัน เซ็คชั่นจุดประกาย หน้า 2 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 มกราคม 2563