ฝนที่แปรปรวนและการมาเยือนของวิกฤติแล้ง

ฝนที่แปรปรวนและการมาเยือนของวิกฤติแล้ง

หลังแม่น้ำหลายสายในประเทศเริ่มแห้งขอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการรุกคืบของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เข้ามาลึกจนถึงจุดรับน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สภาวะแห้งแล้งในปีนี้ได้รับความสนใจในสังคมเป็นอย่างมาก

ว่าจะคลี่คลายไปในทางใด และ...เกิดจากสาเหตุใด

สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการน้ำในประเทศ พวกเขาต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคกลาง ซึ่งพบว่า มีฝนน้อยกว่าปกติและตกล่าช้ากว่าปกติ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างหมิ่นเหม่ในฤดูแล้งนี้

จากการเฝ้าติดตามสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำต้นทุนที่สามารถเก็บกักไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต่างพบสภาพผันผวนหรือความแปรปรวนของสภาพอากาศ (climate variation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน

แม้จะยังยืนยันไม่ได้เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่มากพอว่า นี่คือส่วนหนึ่งของภาวะโลกร้อนหรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในระดับโลก (Climate Change) แต่พวกเขาเชื่อว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในระดับท้องถิ่นนี้ ก็คือภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้

สภาพอากาศในระดับเล็กๆ กำลังเกิดขึ้น มันก็มีความเป็นไปได้ว่า สภาพอากาศในสเกลที่ใหญ่กว่ากำลังเกิดขึ้นเช่นกัน และมีความเกี่ยวโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าว พร้อมกับเสริมว่า กรมชลฯ เองกำลังพยายามศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสภาพอากาศท้องถิ่นนี้ร่วมกับหลายๆ สถาบันอยู่เช่นกันเพื่อไขปริศนาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การวางแผนการจัดการน้ำอย่างถูกทิศถูกทางในอนาคต

  157893121159

ดร.ทองเปลวตรวจสภาพแม่นำ้เจ้าพระยาหลังถูกน้ำเค็มรุกอาทิตย์ที่ผ่านมา

ฤดูกาล

ดร. ทองเปลว ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยา ได้อธิบายว่า ตามฤดูกาลปกติ ประเทศไทยจะมีฤดูกาลผลัดเปลี่ยนกันอยู่สองฤดูกาลหลักๆ คือ ฤดูฝนกับฤดูแล้ง ซึ่งตามหลักวิชาการ ฤดูฝนโดยปกติจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป หลังจากที่ลมตะวันตกเฉียงใต้จากฝั่งอันดามันพัดเอาความชื้นเข้าสู่ไทย

ฤดูฝนจะมีไปจนถึงราวเดือนตุลาคมโดยเฉลี่ย ยกเว้นทางภาคใต้ที่ฤดูฝนอาจจะล่าไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน

ฤดูฝน จึงเป็นฤดูที่ประชาชนมีน้ำมาจากสองแหล่งคือ แหล่งน้ำที่สร้างขึ้นกับน้ำฝน แม้ในบางครั้งจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงหรือ dry spell ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำได้และถือว่าเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง, ดร.ทองเปลวกล่าว

อย่างไรก็ตาม สภาวะแล้งในฤดูแล้ง มักจะมีความรุนแรงกว่า ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนจะเหลือแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวคือแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น และมักจะมีส่วนสัมพันธ์เป็นอย่างมากกับความสามารถในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งฤดูแล้งปกติจะเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเมษายน หรือระยะเวลาราว 6 เดือน จากฤดูหนาวไปจนถึงฤดูร้อนนั่นเอง

ที่ผ่านมา กรมชลฯ คือหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลฯ  ก่อนจะมีการตั้งสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพื่อมาช่วยในการวางนโยบายและแผนด้านทรัพยากรน้ำในระยะยาว

ในจำนวนอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีความจุมากกว่าร้อยล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 38 เขื่อน, ขนาดกลาง ความจุ 2-100 ล้าน ลบ.ม. อีกราว 354-660 แห่ง, และขนาดเล็ก ความจุไม่เกิน 2 ล้าน ลบ.ม. อีกกว่า 141,097 แห่ง, ประเทศไทยมีความสามารถในการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนได้ราว 10% ของปริมาณฝนที่ตก หรือราว 80,000 ล้าน ลบ. ม. โดย ครอบคลุมพื้นที่ 32 ล้านไร่ ในขณะที่ยังมีพื้นที่อีกกว่า 120 ล้านไร่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และมีความเสี่ยงจากภาวะแล้งและภัยแล้งมากกว่าพื้นที่ในเขตชลประทานมาก

 

ชลประทาน

ในพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศและเขตเมืองหลวง กรมชลฯ จะเริ่มกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อตุน “น้ำต้นทุน” สำหรับเอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยต้นเดือนพฤศจิกายน ต้องให้มีน้ำต้นทุนไม่น้อยกว่า 30% ไปจนถึง 80% ของความจุอ่างฯ ซึ่งถ้ามีน้ำที่กักเก็บไว้ได้ 50% ถือว่ามีน้ำพอใช้, ดร. ทองเปลวอธิบาย

โดยน้ำต้นทุนดังกล่าว จะเป็นตัวกำหนดการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งกรมชลฯ ได้จัดลำดับความสำคัญไว้เป็น 4-5 หลักๆ ได้แก่ อุปโภคและบริโภค การรักษาระบบนิเวศ น้ำรองสำหรับปลายฤดูแล้งต้นฤดูฝน เกษตรกรรม (ฤดูแล้ง/ นาปรัง) และอุตสาหกรรม

ในภาพรวมของปีนี้ กรมชลฯ สามารถกักเก็บน้ำต้นทุน ณ วันที่  1 พ.ย. ได้ถึงราว 66% หรือราว 53, 795 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อหักน้ำก้นอ่างที่ต้องคงไว้สำหรับรักษาสภาพทางวิศวกรรมของอ่างเก็บน้ำแล้ว จะมี “น้ำใช้การได้” ประมาณ 33, 604 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นน้ำสำหรับพื้นที่ในเขตชลประทาน 25, 031 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลืออีกราว 8, 500 ล้าน ลบ.ม. กันไว้สำหรับพื้นที่นอกชลประทาน

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำต้นทุนอยู่ที่ราว 5,372 ลบ.ม. เพียงพอสำหรับ 3 กิจกรรมแรกเท่านั้น

  157892976342 157892979854

สภาพอากาศแปรปรวน

แม้จะสามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ได้เกือบ 70% แต่ ดร.ทองเปลวและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำคนอื่นๆ ต่างสังเกตเห็นความผิดปกติของสภาพอากาศและฝนที่ส่งผลต่อการกักเก็บน้ำสำหรับเอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดย ดร.ทองเปลวกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำพบความผิดปกติของความผันผวนของน้ำฝนในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่หลังปี 2554 โดยรูปแบบของฝนมีลักษณะกระจุก ไม่กระจายตัวเหมือนที่เคยเป็น ทำให้ปริมาณน้ำค่อนหรือขาดไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยพบว่า ฝนมักจะตกตามบริเวณพื้นที่ขอบๆ ของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ไม่กระจายตัวในภาคกลางอย่างที่เคยเป็นมา

นอกจากนั้น ฝนยังตกใต้เขื่อนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เขื่อนต่างๆ ไม่สามารถเก็บน้ำฝนได้อย่างที่ควรจะเป็น, ดร. ทองเปลวกล่าว

สภาพความแปรปรวนของสภาพอากาศและฝน ส่งผลต่อพื้นที่ภาคกลางเป็นพิเศษเพราะสองเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนป่าสักและเขื่อนกระเสียว กักเก็บน้ำได้น้อย และจำเป็นต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนใหญ่ทางภาคเหนือปล่อยลงมาช่วย คือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อีกกว่า 3,500 ล้าน ลบ.ม.

และที่น่ากังวลไปไม่น้อยกว่ารูปแบบและทิศทางที่เปลี่ยนไปของฝนคือ การมาถึงของฤดูฝนที่ล่าช้ากว่าปกติ โดย ดร.ทองเปลวกล่าวว่า โดยปกติแล้ว ในประเทศไทยจะเริ่มตกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หรือช่วงวันพืชมงคล แต่ในปีหลังๆ มานี้ ฝนเริ่มตกล่าช้า โดยปีที่แล้ว ฝนตกในช่วงปลายกรกฏาคม ล่าช้ากว่าปกติถึงเกือบสองเดือน

ดร. ทองเปลวกล่าวว่า ความผันผวนของอากาศที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บกักน้ำหรือการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำฝน ซึ่งในอดีต จะไม่ได้กันน้ำเผื่อสำหรับต้นฤดูฝนที่ฝนอาจมาล่าช้ามากนัก แต่เพื่อรับมือกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป กรมชลฯ ได้กันน้ำสำรองในปลายฤดูแล้งต้นฤดูฝนไว้ถึงราว 30%

เกณฑ์ที่เคยบอกๆ กันว่า ใช้ไปเถอะ ฤดูแล้ง (เพราะเดี๋ยวก็เข้าสู่ฤดูฝน) มันใช้ไม่ได้แล้ว ต้องมีสำรองแล้ว ซึ่งแต่ก่อนเราไม่ค่อยได้คำนึงถึงเรื่องนี้” ดร. ทองเปลวกล่าว พร้อมกับเสริมว่า กรมชลฯ ได้ประมวลผลกระทบจากสภาพอากาศไว้เป็นหนึ่งในประเด็นสำหรับการศึกษาและการออกแบบงานในอนาคตของกรมชลฯ รวมทั้งแผนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปีแล้ว

 

นาปรัง    

ในวันที่ 2  มกราคม หน่วยงานด้านน้ำ พบว่า อย่างน้อย 2 ลุ่มน้ำ มีการจัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) โดยจัดสรรน้ำไปแล้ว 1,398 ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำ 1,268 ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่ 2 มกราคม หรือ เกินแผนไปประมาณ 130 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำ โขง ชี มูล จัดสรรน้ำไปแล้ว 385 ล้าน ลบ.ม. จากแผน 379 ล้าน ลบ.ม. เกินแผน 6 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก (EEC) แม้ยังมีการจัดสรรน้ำน้อยกว่าแผน แต่คาดว่ามีแนวโน้มจะจัดสรรน้ำเกินแผน

ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งการบริหารจัดการน้ำมีความซับซ้อนกว่าภาคอื่นๆ อันเนื่องมาจากการทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งไม่เป็นไปตามฤดูกาล กรมชลฯ พบว่า มีการปลูกข้าวนาปรังอยู่ราว 3 ล้านไร่ ทั้งๆ ที่มีการแจ้งเตือนถึงปริมาณน้ำที่อาจมีไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้สำหรับการปลูกข้าวนอกฤดูกาลนี้

ดร. ทองเปลวกล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกเกินแผนเช่นนี้ กำลังส่งผลกระทบกับโควตาน้ำที่มี โดยเฉพาะน้ำที่สำรองไว้สำหรับต้นฤดูฝน ซึ่งหากต้องนำมาช่วยนาข้าวเหล่านี้ นั่นหมายถึง น้ำที่สำรองไว้แทบทั้งหมด และความเสี่ยงของทุกคนในช่วงเวลาดังกล่าวที่จะไม่มีน้ำหากฝนมาล่าช้า

นอกจากเรื่องมวลน้ำ การบริหารจัดการน้ำของประเทศยังมีมิติอื่นที่ต้องจัดการควบคู่ไปด้วย และนั่นหมายถึงนโยบายของประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านการเกษตรที่ยังสนับสนุนการตลาดที่นำการผลิต, ดร.ทองเปลวกล่าว

“นี่เป็นโจทย์สำคัญอีกโจทย์หนึ่งของการจัดการน้ำของบ้านเรา เราจะจัดการกับการใช้น้ำในแต่ละภาคส่วนตรงนี้ยังไง ตรงนี้ก็ต้องการการจัดการไปไม่น้อยกว่าเรื่องน้ำ ต้องมีมาตรการมากกว่านี้ เพราะที่เป็นอยู่มันไม่ได้ผล” ดร. ทองเปลวกล่าว

157893034751

รองนายกฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติสู้ภาวะแล้งที่ สทนช.

แผนฯลุ่มน้ำ

ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เห็นด้วยกับข้อค้นพบของกรมชลประทาน โดยกล่าวว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้รูปแบบของฝนที่เปลี่ยนไป เกิดการกระจุกไม่กระจายตัวเหมือนในอดีต

ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า ภาวะแล้ง โดยปกติจะพิจารณาจาก 2 ปัจจัยคือ ฝนและปริมาณน้ำ ซึ่งฝนที่ตกในปีที่ผ่านมาถือว่าน้อยเป็นอันดับที่ 2 ในรอบ 60ปี และการกระจุกตัวของฝน ส่งผลให้ภาคกลางซึ่งได้รับฝนน้อยกว่าปกติมีน้ำสำหรับฤดูแล้งน้อยกว่าปกติ จนต้องมีการส่งน้ำจากทางภาคเหนือลงมาช่วย

ดร. สมเกียรติกล่าวว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่

การเก็บกักน้ำยังเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือกับภาวะแห้งแล้ง และทางรัฐสนับสนุนการเก็บกักน้ำในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโดยชุมชนเอง ดร. สมเกียรติกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับ ดร. ทองเปลวซึ่งสนับสนุนการเก็บกักน้ำในครัวเรือนเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ดีขึ้น

ในแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ, ดร. สมเกียรติกล่าวว่า จำเป็นต้องดำเนินการทั้งระบบ และนั่นหมายถึงการจัดการทางสังคมและความขัดแย้ง ซึ่งในแผนแม่บทฯ ได้แปลงออกมาเป็นแผนลุ่มน้ำ และแผนจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบและจัดการน้ำด้วยตัวเองอีกทางหนึ่ง