'TPMAP logbook' แพลต์ฟอร์มบิ๊กดาต้าติดตามสถานการณ์แก้ 'ยากจน'

'TPMAP logbook' แพลต์ฟอร์มบิ๊กดาต้าติดตามสถานการณ์แก้ 'ยากจน'

เนคเทค รุกต่อยอดเปิดเเพลต์ฟอร์มบิ๊กดาต้า "TPMAP Logbook" ระบบเครื่องมือสนับสนุนการบูรณาการแก้ปัญหาเวอร์ชั่นอัพเกรด บนข้อมูล 5 มิติหวังเป็นข้อมูลเอกภาพ ลดซ้ำซ้อน ติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ยกระดับคุณภาพชีวิต "คนจน"

ดึงบิ๊กดาต้าเร่งติดตาม คนแบบชี้เป้า

นายสุทธิพงศ์  ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์  ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เข้าข่ายยากจนจริงประมาณ 983,316 คน จากประชากรสำรวจกว่า 36 ล้านคน ทางคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าของภาครัฐได้มอบหมายให้เนคเทคและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ  TPMAP ขึ้น

 โดยเบื้องต้นระบบแล้วเสร็จและนำร่องใช้ไปเมื่อปีที่ผ่านมาจึงได้ต่อยอดสู่  TPMAP logbook หรือ แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย คือ ระบบติดตามครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้าโดยอาศัยปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง  โดย TPMAP Logbook ได้ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการบูรณาการและความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาโดยมีบิ๊กดาต้าเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลบนฐานจำนวนมาก พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่มีข้อมูลตั้งต้น ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากหลายแหล่ง และลำดับครัวเรือนยากจนตามดัชนีความขัดสนหลายมิติหรือ Multidimensional Poverty Index (MPI)

ซึ่งพิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการเงิน ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ  และตัวชี้วัดมิติต่าง ๆ  เพื่อใช้สอบถามสาเหตุของปัญหา และติดตามการแก้ปัญหารายครัวเรือน  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถบันทึกข้อมูลปัญหาเพิ่มเติม และกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือกลับมาในระบบได้ เนื่องจากข้อมูลข้างต้นถูกบันทึกและเห็นผ่านระบบเดียวกันบน TPMAP Logbook จะทำให้การแก้ปัญหา มีความเป็นเอกภาพ ไม่ซ้ำซ้อน อีกทั้งยังสามารถให้หน่วยงานในส่วนกลาง และรัฐบาลสามารถติดตามสถานการณ์ปัญหา และการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

“โดย TPMAP Logbook ที่พัฒนาต่อยอดจากระบบ TPMAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ถือเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐเนื่องจากมีการรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ในการวิเคราะห์ผู้เปราะบางที่ประสบปัญหาความยากจนใช้วิธีการคำนวณดัชนี MPI ที่สามารถระบุได้ว่าคนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง เช่น การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการรัฐ การเงิน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายแก้ปัญหาได้ตรงจุด คิดค้นโดย Oxford Poverty & Human Development Initiative (OPHI) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nation Development Programme (UNDP) โดยอาศัยหลักการที่ว่าผู้เปราะบางคือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่างๆ”



เชื่อมผสานหลายฐานข้อมูล

สุทธิพงศ์ กล่าวเสริมว่า การทำงานของ TPMAP จะอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน ผ่านการใช้สมมติฐานว่าคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) และยังมาลงทะเบียนว่าจนอีกด้วย (register-based) น่าจะเป็นคนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ดังนั้น TPMAP จึงตั้งต้นโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชน และข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐจากกระทรวงการคลัง มายืนยันซึ่งกันและกัน หรืออีกนัยหนึ่ง "คนจนเป้าหมาย" ใน TPMAP ก็คือคนจนใน จปฐ. ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ

157892763644

เมื่อนำข้อมูลตรงส่วน TPMAP มาก็จะต่อยอดสู่ TPMAP logbook  ในการติดตามครัวเรือนยากจนจากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้ข้อมูลตรงจุดนี้ในการติดตามดำเนินการ แก้ไขปัญหา โดยทั้ง 5 มิติ ก็จะมีหน่วยงานรับผิดชอบที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาแตกต่างกันออกไปตามลักษณะงานที่อยู่ในจังหวัด อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล  ซึ่ง TPMAP Logbook รุ่นปัจจุบัน มีฐานข้อมูลที่ได้บูรณาการจากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพ กระทรวงการคลัง  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  จากนั้นได้พัฒนาเป็น web-based application ที่รองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์หลากหลายชนิดตั้งแต่คอมพิวเตอร์ ไปจนถึง สมาร์ทโฟนซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามและบันทึกข้อมูลได้ง่ายผ่านอุปกรณ์ที่สะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น”

 

เร่งพัฒนาฟีเจอร์ตอบโจทย์เชิงลึก

ทางด้านนายวีระชัย  จันทร์สุด วิศวกรอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ปัจจุบันทางผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 14 จังหวัดได้ติดต่อขอข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปใช้งาน ได้แก่ สมุทรสงคราม ปทุมธานี เชียงใหม่ อุดรธานี ตาก สกลนคร มุกดาหาร นครพนม อยุธยา ยะลา ลพบุรี อุบลราชธานี นนทบุรี นครปฐม ดังนั้นทีมวิจัย TPMAP จึงได้พัฒนา TPMAP Logbook ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัดซึ่งเน้นที่การลงลึกถึงระดับครัวเรือนและรายบุคคลโดยใช้งานในการวิเคราะห์และติดตามการแก้ปัญหา

157892765194

“ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามถือเป็นจังหวัดนำร่องในการ ใช้งาน  TPMAP Logbook เพื่อใช้แก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยใช้ปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้งและให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาจริง ทางทีมงานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในจังหวัดลงพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อใช้ TPMAP Logbook ในการนำร่องชี้เป้าครัวเรือนยากจน บันทึกพิกัดตำแหน่งของครัวเรือนและภาพถ่ายของครัวเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือ พร้อมบันทึกข้อมูลรายละเอียดของมิติปัญหาความเปราะบางที่ได้รับการสำรวจเพิ่มเติมจากในพื้นที่เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาแบบลงลึกต่อไป"

ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามถือเป็นจังหวัดนำร่องการใช้งาน TPMAP อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการขอรับการสนับสนุนรายละเอียดข้อมูลคนจนตามระบบ TPMAP ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามมีจำนวนคนจน 601 ครัวเรือน 903 คน เมื่อกลั่นกรองข้อมูลเบื้องต้นและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครัวเรือนเป้าหมายเพื่อหาข้อมูลและข้อเท็จจริง พบว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขก็คือ ครัวเรือนยากจนต้องการซ่อมแซมบ้าน จึงจัดกิจกรรมระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาเป็นกองทุนช่วยเหลือคนจนในการซ่อมแซมบ้าน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทุนที่ได้นี้ได้ถูกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาซ่อมแซมบ้านของผู้เปราะบางกว่า 50 ครัวเรือน ขณะเดียวกันจังหวัดนครปฐมถือเป็นจังหวัดล่าสุดที่ได้มีการอบรมถึงการใช้ระบบนี้ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเปิดใช้งานได้ภายในปี 2563 นี้

"ในเฟสแรกที่เจ้าหน้าที่สามารถบันทึกการสำรวจ แก้ปัญหา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2563 หรือประมาณเดือนมีนาคมนี้ อีกทั้งในอนาคตทางทีมวิจัยกำลังเร่งพัฒนาฟีเจอร์ส่วนรายงานของ TPMAP Logbook เพื่อให้สามารถรายงานแสดงผลข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้จากการไปสำรวจและแก้ปัญหาให้มีความหลากหลายและเชิงลึกมากขึ้น เพื่อส่งต่อ ให้ผู้บริหาร อาทิ ผู้ว่ารายการจังหวัด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาสามารถติดตามการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เดือนนี้ไปเจอปัญหาอะไรมาบ้าง แก้ไปได้เท่าไหร่ เป็นต้น และจะขยายการใช้งานไปสู่จังหวัดอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศในลำดับถัดไป"