กสทช.เคาะเยียวยา 'อสมท' พุธนี้

กสทช.เคาะเยียวยา 'อสมท' พุธนี้

อนุฯสรุปค่าคลื่น 2600 ที่ 11,172 ล้านบาท

“ฐากร”ระบุสนง.เตรียมชงบอร์ดอนุมัติเงินเยียวยาคลื่น 2600 ให้ อสมท หลังอนุฯเคาะราคาคลื่นที่ถือครองอยู่เสร็จแล้ว เตรียมสรุปเงินให้11,172ล้านบาท ระบุคิดบนพื้นฐานของ 40% จากมูลค่าคลื่นที่แท้จริงจำนวน 150 เมกะเฮิรตซ์ มั่นใจหากเอามาประมูล 5จีขายได้หมดเกลี้ยง พร้อมเอาเงินจ่ายให้อสมท.ได้เลยในงวดแรก

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.วันที่ 15 ม.ค.นี้ จะมีวาระการเสนอจ่ายเงินเยียวยาทดแทนในคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่บมจ.อสมท เป็นผู้ถือครองคลื่นดังกล่าวอยู่ที่ 150 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งกสทช.จะเปิดประมูลคลื่นในย่านดังกล่าววันที่ 16 ก.พ. 2563 จำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งอีก 40 เมกะเฮิรตซ์ที่นำมารวมนั้นเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งสำนักงานกสทช.เรียกคืนมาเสร็จแล้ว

“คณะอนุฯคำนวณอยู่บนพื้นฐานของมูลค่าคลื่นที่จะมีการใช้งานหากนำมาประมูล 5จีและคำนวณในอัตราที่อสมทสมควรจะได้รับแบบอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งหลังจากนี้ หากบอร์ดอนุมัติตามนี้ เพราะทางสำนักงานกสทช.ได้เสนอข้อมูล มูลค่าคลื่นทุกอย่างไปยังกรรมการกสทช.แต่ละท่านให้ศึกษาข้อมูลดังกล่าวแล้ว”

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า มูลค่าที่สำนักงานกสทช.จะเสนอบอร์ดให้อนุมัติเพื่อเยียวยาให้แก่อสมทจะอยู่ที่ 11,172 ล้านบาท โดยจะคำนวณจากมูลค่าราคาคลื่นจริงจาก 40% ของราคาคลื่นเริ่มต้นประมูลของคลื่น 2600 ที่ 1,862 ล้านบาท ต่อ 10 เมกะเฮิรตซ์ จะได้เท่ากับ 744.8 ล้านบาท ต่อ 10 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น 150 เมกะเฮิรตซ์ จะได้รับเงินเยียวยาเท่ากับ 11,172 ล้านบาทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หาก อสมท ไม่พอใจกับเงินเยียวยาที่ได้ อสทม ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเอง เพราะ กสทช. ยืนยันว่าได้คิดมูลค่าจากคลื่นที่ อสมท ใช้งานจริงเท่านั้น แต่จำนวนดังกล่าวก็สูงมากแล้ว จึงอยากให้อสมทตอบรับในมูลค่าดังกล่าวที่เสนอไป

เลขาธิการกสทช. กล่าวถึงความคืบหน้าการประมูล 5จีว่า หลังจากที่เอกชนรวม 4 ราย คือ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่นบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บมจ.ทีโอทีและบมจ.กสท โทรคมนาคม มารับซองการประมูล5จีแล้วในทุกย่านความถี่ที่เปิดการประมูลคือ 700 ,1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งในส่วนของคลื่น 2600 นั้น ตนมั่นใจว่าจะมีเอกชนเข้าประมูลครบทุกใบอนุญาต ซึ่งเมื่อได้เงินงวดแรกมาก็สามารถจ่ายเยียวยาให้แก่อสมทได้ทันที

อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ยังคงเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับเอกสารการประมูลได้ต่อไปจนถึงวันที่ 3 ก.พ.2563 จากนั้นจะเปิดให้ยื่นเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 4 ก.พ.2563 จากนั้นวันที่ 10 และ 14 ก.พ.2563 จะให้มีการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) และวันที่ 16 ก.พ.2563 เป็นวันประมูล 5จี ซึ่งตามที่มีรายงานแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ก็จะเดินทางมารับเอกสารด้วย

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2600 นั้น สำนักกสทช.ได้กำหนดให้ ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต ส่วนการชำระเงินค่าประมูล ปีแรก ชำระงวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล ปีที่ 2-4 ยกเว้นยังไม่ต้องชำระค่าการประมูล ปีที่ 5-10 (งวดที่ 2-7) ชำระปีละ 15% โดยผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้บริการครอบคลุม 40% ของพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี และ 50% ของพื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละจังหวัดภายใน 4 ปี