ส่งออกเกษตรกระทบหนัก เตือนเฝ้าระวังค่าเงินทั้งปี

ส่งออกเกษตรกระทบหนัก เตือนเฝ้าระวังค่าเงินทั้งปี

ผู้ส่งออกหวั่นค่าบาทกระทบยาวทั้งปี กระทบสินค้าเกษตรหนัก ฉุดอุตสาหกรรมไก่ทั้งระบบ สมาคมกุ้งขออัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลล์ หนุนแข่งขันต่างชาติ ด้านผู้ส่งออกยางเกาะติดค่าเงินใกล้ชิด

การส่งออกปี 2563 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่าการส่งออกปี 2563 เติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์ และหากค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 28.50 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกอาจติดลบถึง 5% ซึ่งเป็นกรณีที่แย่ที่สุดที่ประเมินไว้

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ระธาน สรท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง จากแรงกดดันของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพื่อจากการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับการลงทุนในตลาดทุนและพันธบัตร เนื่องจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกปรับลดลง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ประกอบกับความมั่นคงในดุลการชำระเงินที่ของประเทศไทย

นางสาวกัญญภัค กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นผู้ประกอบการหลายรายต้องหาทางปรับตัวให้เดินธุรกิจต่อไปได้ เพราะภาคเอกชนก็คงไม่สามารถให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ได้ 

รวมทั้งที่ผ่านมา ธปท.อธิบายว่า เงินบาทที่แข็งค่าเป็นโอกาสของไทย เพราะได้ดุลการค้าเพิ่มและให้ภาคเอกชนซื้อเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเข้ามาเพื่อผลิตสินค้า แต่เอกชนรายใดจะลงทุนใหม่ในเมื่อไม่มีคำสั่งสินค้าเพิ่มและผู้บริโภคภายในประเทศก็ไม่ขยายตัว

  • หวั่นค่าเงินหลุดไปแตะ 29 บาท

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า การส่งออกปี 2563 จะอยู่ที่ 9.8 แสนตัน มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมูลค่าต้องพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้ง หากเงินบาทแข็งค่าหลุดไปเป็น 29 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นสถานกาณณ์ที่แย่มากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งคือ บราซิลที่เงินเรอัลอ่อนค่าลง 7% เทียบกับบาทของไทยแข็งขึ้น 4-5 % ทำให้ไทยเสียเปรียบบราซิล

การส่งออกสินค้าไก่ในปี 2563 จะได้รับปัจจัยบวกจากการที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าไก่เพิ่มขึ้น โดยไทยจะมีคู่แข่งสำคัญ คือ บราซิลที่ส่งออกไก่สด และจีนที่ส่งออกไก่แปรรูป 

ขณะที่จีนยังเป็นตลาดสำคัญของไทยและกำลังตรวจรับรองโรงงานไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง จากที่ส่งออกได้แล้ว 15 แห่ง ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกไปจีนจะไปได้ดี ส่วนหนึ่ง เพราะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของจีนยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ต้องการนำเข้าไก่มากขึ้น เช่น ชิ้นส่วน ตีน น่อง ปีก รวมทั้งตลาดเกาหลีใต้ที่แนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

  • ค่าเงินกระทบขีดแข่งขัน

"ค่าเงินสำคัญมาก เพราะจะมีผลกับการแข่งขัน ยิ่งไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า และต้องเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยนอีก หากปล่อยไว้จะเสียหายทั้งระบบ ทุกวันนี้การส่งออกไก่สดพยายามรักษาส่วนต่างของราคาเมื่อเทียบกับบราซิลไว้ที่ 200-300 ดอลลาร์ ซึ่งจุดแข็งไทยตัดแต่งชิ้นเนื้อได้ดี ต่างกับบราซิลที่จะเน้นส่งออกแบบคละ แต่ถ้าไก่บราซิลถูกกว่ามาก คู่ค้าจะแห่ไปซื้อแน่นอน"

ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) แนวโน้มความต้องยังมีอีกมาก แต่ไทยขยายไม่ได้เพราะติดปัญหาโควตานำเข้า โดยเป็นไก่หมักเกลือ 92,659 ตัน ไก่ปรุงสุกปริมาณ 230,473 ตัน ดังนั้นรัฐบาลต้องเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ให้ได้ รวมทั้งต้องรอดูสถานกาณณ์เบรกซิทในปีนี้ด้วย

ตลาดตะวันออกกลาง ในขณะนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กำลังตรวจสอบรับรองโรงงานไทย 11 แห่ง ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของยูเออี คือ การเชือดในสภาพที่ยังมีสติ หรือห้ามทำให้สลบ (stun) แต่ยูเออีกำลังเปลี่ยนระเบียบการนำเข้าใหม่ ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกไก่ไทยขึ้น ดังนั้นหากโรงงานไทยปรับก่อนจะส่งออกได้ทันที 

สำหรับการส่งออกปี 2562 การส่งออกไก่ได้ 9.4 แสนตัน มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2561 เพราะตลาดญี่ปุ่นและอียูทรงตัว โดยอียูมีปัญหาค่าเงินอ่อนมากและญี่ปุ่นราคาทรงตัวแต่ดีกว่าอียูที่ส่งออกไปได้มากกว่า

157889519577

  • สมาคมกุ้งขอค่าเงิน 30บาท/ดอลล์

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกกุ้งปีนี้อยู่ที่เงินบาทแข็ง โดยเงินแข็งค่า 1 บาท จะทำให้ราคากุ้งหายไป 5-7 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น จึงอยากเห็นเสถียรภาพของค่าเงินโดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมคือ 30 บาทต่อดอลลาร์ 

รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเจรจากับตลาดคู่ค้าเปิดตลาดใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ยั่งยืนและที่สำคัญต้องเจรจาเอฟทีเอกับอียู เพื่อให้กุ้งจากไทยกลับมาแข่งขันได้

สถานการณ์กุ้งที่เลวร้ายมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทั้งด้านโรคระบาด และราคากุ้งที่ตกต่ำ อันเนื่องมาจากสหรัฐผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ขึ้นภาษี ส่งผลให้กุ้งอินเดียที่ผลิตได้มาก แต่ส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ จึงมีผลกดดันราคาในตลาดโลกและทำให้กุ้งไทยราคาตกต่ำด้วย แต่เกษตรกรปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น โดยเรียนรู้จัดการกับปัญหาโรคได้ดี 

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ประเมินว่าปี 2563 จะมีผลผลิต 3.5 แสนตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผลิตได้ 2.9 แสนตัน และมีมูลค่าการส่งออก 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

"องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า กุ้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอีกมาก เพราะผลผลิตสัตว์น้ำที่จับจากทะเลมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับประชากรที่เพิ่มขึ้น แม้หลายประเทศหันมาเลี้ยงกุ้งมากขึ้น แต่ศักยภาพที่เคยผลิตและส่งออกกุ้งมากที่สุดในโลกในหลายปีติดต่อกัน ประกอบกับตลาดนำเข้ากุ้งสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน เชื่อมั่นสินค้ากุ้งไทยว่าคุณภาพดี จึงขอให้เกษตรกรผลิตได้มากพอและสม่ำเสมอในราคาที่แข่งขันได้"

  • เฝ้าระวังค่าเงินกระทบยาง

นายหลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังถึงผลกระทบต่อการส่งออก แม้การใช้ยางในประเทศจะมีมากขึ้นเป็น 7 แสนตันแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยางต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก มูลค่ากว่าปีละ 1.7-1.8 แสนล้านบาท หากค่าบาทแข็งเกินไป การแข่งขันก็ลำบาก และผู้นำเข้าจะหันไปซื้อจากเวียดนาม อินโดนีเซียกันหมด

หลังจากนี้การส่งออกยางพาราไทยจะลดลงต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 10% โดยการส่งออกปี 2562 จะอยู่ที่ 3.7-3.8 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561 ที่ส่งออกได้ 4 ล้านตัน และคาดว่าปี 2563 จะลดลงอีก 10% เพราะรัฐบาลสนับสนุนใช้ยางในประเทศมากขึ้น ประกอบกับหลังจากราคายางตกต่ำต่อเนื่องช่วง 5-6 ปีที่ผ่าน เกษตรกรไม่ขยายพื้นที่ปลูก รวมทั้งยังโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกใหม่

ทั้งนี้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้ราคายางจะปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นทุนการผลิต แต่ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อราคายางในปี 2563 ที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้นนโยบายรัฐบาลจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อเสถียรภาพราคา