'บิ๊กป้อม' นำถกจ่อตั้ง สนง.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์-ไซเบอร์ซิเคียวริตี้

'บิ๊กป้อม' นำถกจ่อตั้ง สนง.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์-ไซเบอร์ซิเคียวริตี้

"ประวิตร" นำถก พัฒนาความปลอดภัยไซเบอร์ จ่อตั้ง สนง.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์-ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ รับมือภัยคุกคามทุกรูปแบบ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) โดยมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.)

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สร้างความพร้อมในการป้องกันแล้วรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งในระหว่างการจัดตั้งสำนักงานยังไม่แล้วเสร็จได้มอบหมายให้ศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทยของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ปฎิบัติหน้าที่ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ไปก่อน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกลไกการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศประกอบด้วย 4 เรื่องสำคัญคือ 1.กำหนดทิศทางนโยบายและแผนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ระดับชาติเพื่อรับมือป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน 2.เตรียมการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในการรับมือภัยคุกคามทุกรูปแบบ 3.วางแนวทางพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 4.ดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่องจึงขอให้คณะกรรมการร่วมการกำกับติดตามและผลักดันการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ด้าน นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมจากการพิจารณาหลักเกณฑ์จัดตั้งสำนักงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยคณะกรรมการชุดใหญ่แล้วจะมีสำนักงานที่ดูแลกฎหมายการเฝ้าระวังในเรื่องต่างๆ รวมถึงแฮ็กเกอร์ การจัดตั้งสำนักงานฯต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จปี 2563 รวมถึงคัดสรรเลขาธิการสำนักงานฯคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิโดยตำแหน่ง 4 คน และการเตรียมแผนงานในอนาคตที่จะต้องบูรณาการเรื่องไซเบอร์ ซึ่งกรรมการชุดนี้มีอำนาจในหลายเรื่องรวมทั้งกำกับนโยบาย เรื่องของไซเบอร์เป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศอย่ามาใช้บุคลากรของกระทรวงยังไม่เพียงพอ และต้องมีการบูรณาการฝ่ายความมั่นคงทั้งกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม จากนี้การทำงานก็จะสะดวกขึ้นเวลามีการติดตามข้อมูลหรือมีการแฮ็กข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เมื่อมีการรวมศูนย์การทำงานก็จะทำการทำงานเดินหน้าไปได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการแฮ็กข้อมูล เกิดจากภายในหรือนอกประเทศมากกว่ากัน นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทั้งสองฝั่งที่ผ่านมาหลายคนอาจจะบอกว่าการเกิดข่าวปลอมหรือใช้ไซเบอร์ในทางที่ผิด ซึ่งมีทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีจำนวนมาก ที่เราสำรวจได้คือมีการใช้ซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้านจดทะเบียนเข้ามาทำการแฮ็กข้อมูลของหน่วยงานราชการต่างๆ ปัญหาเรื่องใส่เบอร์ไม่ใช่มีแค่เฟกนิวส์แต่วันนี้ที่น่าเป็นห่วงคือเข้ามาเจาะฐานข้อมูลเกือบทุกหน่วยงานราชการและเกือบทุกวันอย่างต่อเนื่องเล่นหน่วยงานธนาคารจะโดนแฮ็กข้อมูลจำนวนมาก รวมถึงระบบแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม เข้ามาติดตามความเคลื่อนไหว ซึ่งเราติดตามหาที่มาได้ตลอดเวลา แต่หลายเรื่องไม่สามารถเป็นข่าวได้ จึงต้องเตือนระบบออนไลน์ต่างๆต้องระวังอย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่านต่างๆ เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีจะเข้าไปแอบอ้าง นอกจากนี้มีแนวคิดจะขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ในการจดทะเบียนชื่อในซิมการ์ด กรณีตัวอย่างการก่อเหตุความไม่สงบและในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเราพบว่าบางคนมีซิมการ์ดโทรศัพท์เป็น 100 ใบ หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้โอกาสในการควบคุมจะยาก และยังมีปัญหาเรื่องการลงทะเบียนซิมการ์ดในประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจำนวนหลายหมื่น ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเราได้ประสานพูดคุยทำความเข้าใจไปแล้ว เมื่อถามว่า ข้อมูลที่ถูกแฮ็กมากที่สุดคือเรื่องใด นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่าเป็นข้อมูลธนาคารปกติ เช่น กรณีชิมช็อปใช้ระบบข้อมูลลูกค้าซึ่งบริษัทเอกชนจะถูกแฮ็กจำนวนมากเพื่อเข้าไปดูข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจ เช่น นำรายชื่อที่อยู่ลูกค้าไปใช้ทำประโยชน์ของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงมีทีมในการดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่