เลือกตั้งผ่านบล็อกเชน กรณีศึกษา สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี

เลือกตั้งผ่านบล็อกเชน กรณีศึกษา สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี

ส่อง "สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี" ต้นแบบหน่วยงานแรกของไทย ที่จัดการเลือกตั้งผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน เลือกตั้งได้เพียงแค่ปลายนิ้วผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศ

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจาย มีเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย หรือ Node ช่วยกันจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูล ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในแต่ละ Node เมื่อถูกยอมรับจากเครือข่ายแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายบนบล็อกเชนช่วยลดปัญหาการโจมตีระบบเลือกตั้งและขจัดตัวกลาง ทำให้ไม่สามารถบิดเบือนคะแนนเสียงเลือกตั้งจากส่วนกลางหรือผู้ดูแลระบบได้

สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัดภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการลงคะแนนสรรหาประธานกรรมการ กรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการผ่านระบบเลือกตั้งด้วยบล็อกเชน โดยจัดการสรรหาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2562 นับเป็นหน่วยงานแห่งแรกของไทย ที่มีการลงคะแนนโหวตอย่างเป็นทางการผ่านระบบบล็อกเชน

สมาชิกสหกรณ์ฯ กว่าหมื่นคน ประกอบด้วย ข้าราชการและลูกจ้างในหน่วยงานสังกัดสาธารณสุขในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 7,511 คน แต่ละปีจะมีการจัดการสรรหาประธานกรรมการ กรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ โดยมีหน่วยเลือกตั้ง 29 หน่วย กระจายในพื้นที่ แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่บางส่วนเป็นเกาะและอาชีพ การให้บริการด้านสาธารณสุขที่มีงานค่อนข้างรัดตัวเกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชน ทำให้สมาชิกสหกรณ์ฯบางส่วนไม่สะดวกมาลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง นอกจากนี้งบประมาณการจัดการเลือกตั้งแต่ละปีค่อนข้างสูง เช่น ในปี 2561 สหกรณ์ฯ ใช้งบกว่า 2 ล้านบาท และยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ลงคะแนน เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาที่สมาชิก ต้องเดินทางมาโวตที่หน่วยเลือกตั้งอีกด้วย

ในส่วนของระบบเลือกตั้งด้วยบล็อกเชนนี้ มีการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายบล็อกเชนสาธารณะ Ethereum Blockchain ใช้วิธีการระบุตัวตนและพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลด้วยรหัสผ่านที่สมาชิกได้รับจากระบบ Web Member ของสหกรณ์ ประกอบกับการยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ที่ระบบส่งไปยังเบอร์มือถือที่สมาชิกได้ลงทะเบียนไว้กับสหกรณ์ล่วงหน้าแล้ว ผู้ลงคะแนนสามารถล็อกอินเข้าเว็บไซต์ Thaivote.io และทำการโหวตผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศก็ได้ ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีในการลงคะแนนสรรหา

ผลสรุปผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเฉลี่ยจากการเลือกตั้งทั้ง 3 ประเภท คิดเป็น 69.62 ของผู้มีสิทธิสรรหาทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับคณะกรรมการเลือกตั้งและผู้บริหารสหกรณ์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบออนไลน์ สมาชิกบางส่วนอาจปรับตัวไม่ทัน และมีบางส่วนที่ประสงค์จะ ลงคะแนนแต่ต้องเสียสิทธิเพราะไม่ได้มีการอัพเดทรหัสผ่านและเบอร์ มือถือของตนในช่วงที่เปิดให้แก้ไขก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ สหกรณ์ฯ และธรรมศาสตร์ เตรียมแนวทางแก้ไข และประชาสัมพันธ์ ให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนสามารถลงคะแนนได้อย่างทั่วถึงในครั้งต่อไป

แม้ว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งด้วยบล็อกเชนครั้งแรกนี้ จะน้อยกว่าการเลือกตั้งแบบเดิมของสหกรณ์ แต่หากพิจารณาถึงผลดีที่เกิดขึ้นนับว่าคุ้มค่ากว่ามาก ทั้งค่าใช้จ่ายการจัดการโหวตที่น้อยกว่าเดิมกว่าครึ่ง สร้างความสะดวกให้กับสมาชิกสหกรณ์ เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการเลือกตั้ง ลดการนับคะแนนผิดพลาด ประกาศผลได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้สหกรณ์อื่นในสุราษฎร์ธานีที่เข้ามาสังเกตการณ์ประสงค์ จะนำระบบเลือกตั้งด้วยบล็อกเชนไปใช้ในสหกรณ์ของตนเช่นกัน

ซึ่งเป็นแนวทางที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ ให้การส่งเสริมและสอดคล้องกับการนำจุดแข็งของมหาวิทยาลัย มายกระดับการใช้งานในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนา Startup ในลักษณะ Political Tech ให้งานการเมืองมีความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคม