5G ปฏิวัติโลกอุตสาหกรรม

5G ปฏิวัติโลกอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี 5G จะปฏิวัติโลกอุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง และในประเทศไทยจะนำ 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร

หลังการเตรียมการมาร่วม 2 ปี ล่าสุดไทม์ไลน์ของ 5G ก็ได้ออกมาให้เห็นกันแล้ว โดยล่าสุดการประมูล 5G จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ก.พ.2563 โดยเปิดให้ประมูลทั้งหมด 4 ย่านความถี่ ได้แก่

1.ความถี่ย่าน 700 MHz 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต

2.ความถี่ย่าน 1800 MHz 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต

3.คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต

4.คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต

รวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 160 พันล้านบาท ซึ่งทาง กสทช.ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมือถือที่ชนะการประมูล จะต้องเปิดให้บริการในเดือน ก.ค.2563

ทั้งนี้ระบบ 5G นั้น หากสามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถเปลี่ยนแปลงหลายๆ อุตสาหกรรม รวมถึงเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปอย่างมาก เช่นเดียวกับการที่ระบบ 3G และ 4G เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราในอดีต จาก 1G ที่เป็นเพียงระบบสื่อสารด้วยเสียง มาสู่ระบบ 3G และ 4G ที่สามารถใช้งานเว็บไซต์ รวมถึงดูวีดีโอสตรีมมิ่งบนมือถือของเราได้

ทั้งนี้ระบบ 5G นั้น เป็นระบบที่จะพัฒนาต่อจากระบบ 4G ขึ้นไปอีก โดยจะเพิ่มความเร็วอีกกว่า 20 เท่าของระบบ 4G เพิ่มคู่เชื่อมต่อสัญญาณต่อพื้นที่อีกกว่า 10 เท่าของระบบ 4G ดังนั้น หากมีการนำระบบ 5G มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถทำให้เทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ความเร็ว และคู่สัญญาณที่มากอย่างรถยนต์ ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-Driving Vehicle), การจำลองภาพเสมือนจริง (Virtual Reality และ Augmented Reality) แบบตามเวลาจริง (Real Time) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาทางไกล การเกษตร และการแพทย์ในการผ่าตัดทางไกล

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะสามารถทำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้จำนวนคนที่ลดลง ทั้งนี้ล่าสุดในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ได้มีการนำระบบ 5G มาใช้บางแล้ว อย่างในอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

สำหรับในประเทศไทยเอง แม้จะมีการทดสอบระบบ 5G มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา รวมถึงระบบขับเคลื่อนรถยนต์ทางไกลของ AIS ซึ่งสามารถบังคับได้จากกรุงเทพให้รถยนต์ขับเคลื่อนจริงที่จังหวัดหาดใหญ่ ซึ่งมีระยะทางห่างกันถึง 950 กิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีความท้าทายหลายอย่างสำหรับการนำระบบ 5G มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น การลงทุนในระบบ 5G จะเพิ่มภาระให้กับงบดุลของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ

เนื่องจากมีการลงทุนด้านระบบที่คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 60-70% ต่อพื้นที่ เมื่อเทียบกับระบบ 4G ในปัจจุบัน แต่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการ และผู้ใช้ในระยะยาว ซึ่งทาง กสทช.ได้กำหนดเขตการให้บริการ 5G ที่แรกของประเทศที่บริเวณพื้นที่ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

และเชื่อว่าการลงทุนจะช่วยประโยชน์ในด้านของอุตสาหกรรม การแพทย์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องจักรและหุ่นยนต์ และคงจะทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว