'พิพัฒน์' ชงครม.ฟรีวีซ่า 'จีน-อินเดีย' ลดวิกฤติบาทแข็ง

'พิพัฒน์' ชงครม.ฟรีวีซ่า 'จีน-อินเดีย' ลดวิกฤติบาทแข็ง

“พิพัฒน์” ลุยชง ครม.เศรษฐกิจ ปลายเดือนนี้ ใช้ยาแรง “ฟรีวีซ่า” นักท่องเที่ยว 2 ตลาดใหญ่ “จีน-อินเดีย” สู้ศึกท่องเที่ยวโลกแข่งเดือด ลดผลกระทบ“บาทแข็ง” หวังไม้เด็ดดึงทัวริสต์เลือกเที่ยวไทย สานเป้าหมายปี 63 ดันรายได้ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ 2.22 ล้านล้าน

สถานการณ์เงินบาทแข็งค่ายังคงกดดันผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง จนอาจทำให้รายได้ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศในปี 2563 พลาดเป้าหมายที่ 2.22 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการใหม่ๆ ดันรายได้ท่องเที่ยว ผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีให้ขยายตัว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันที่ 31 ม.ค.2563 นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณามาตรการ “ฟรีวีซ่า” หรือไม่ต้องขอวีซ่าเมื่อเดินทางเข้าไทย แก่นักท่องเที่ยว2ตลาดใหญ่ ได้แก่ จีน และอินเดีย เข้าพำนักในไทยได้นาน14วัน เหมือนกับกรณีที่คนไทยสามารถเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

หาก ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบกับมาตรการฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย กระทรวงการท่องเที่ยวฯก็เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.ใหญ่ในสัปดาห์ถัดไปทันที เพราะเรื่องนี้ช้าไม่ได้ วางไทม์ไลน์ไว้ว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ประกาศใช้มาตรการฟรีวีซ่านี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า2เดือน เพื่อให้ภาคเอกชนท่องเที่ยว ทั้งบริษัทนำเที่ยว สายการบิน โรงแรม และอื่นๆ สามารถวางแผนทำการตลาดได้ทัน ก่อนที่มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง(Visa on Arrival: VoA) แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ19ประเทศ (รวมจีนและอินเดีย) จะหมดอายุในวันที่ 30เม.ย.นี้

“ก่อนหน้านี้ผมได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นการเบื้องต้นแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางมหาดไทยเป็นผู้นำในการประชุมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งมหาดไทย กลาโหม การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้มองว่าการเสนอมาตรการฟรีวีซ่าแก่ชาวจีนและอินเดียครั้งนี้มีแนวโน้มจะได้รับความเห็นชอบ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการประกาศเริ่มใช้มาตรการฟรีวีซ่านี้ต่อจากวันที่30เม.ย.นี้เลย”

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการฟรีวีซ่านี้ เป็นเพราะปี2563เป็นปีที่มีการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวรุนแรงมาก โดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ยกตัวอย่างมาเลเซีย เพิ่งประกาศใช้มาตรการฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย เป็นระยะเวลา15วัน เจาะตลาดเป้าหมายใหญ่เช่นเดียวกับที่ไทยต้องการ เริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันที่1ม.ค. จนถึงวันที่31ธ.ค.2563นี้

“ไม่ว่าคู่แข่งประเทศไหนๆ ก็ต้องมอง2ตลาดนี้ เพราะจีนกับอินเดียเป็นประเทศที่มีฐานประชากรขนาดใหญ่ และมีกำลังซื้อด้านการท่องเที่ยวสูง หากมาตรการฟรีวีซ่าแก่ชาวจีนและอินเดียผ่าน มองว่าจะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าได้ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยดึงดีมานด์นักท่องเที่ยวให้เข้ามาจับจ่ายที่ไทยได้ในภาวะบาทแข็งแบบนี้”

ที่ผ่านมาทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯเองได้สะท้อนปัญหาบาทแข็งไปยังกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้วว่า ถ้าเงินบาทยังแข็งค่าอยู่แบบนี้ ภาคท่องเที่ยวไทยจะสู้กับประเทศอื่นไม่ได้ เพราะเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีนแล้ว เราแข็งค่าขึ้นถึง18%ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ค่าเงินบาทแข็งกว่า7-10%เป็นนัยยะสำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ก่อนหน้านี้ ผมได้พูดคุยกับผู้ประกอบการทัวร์จากฝั่งประเทศจีน เขาก็สะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนก็มีงบประมาณท่องเที่ยวต่างประเทศเท่าเดิม เช่น เตรียมงบฯสำหรับเที่ยวไทย 10,000 หยวน เคยแลกได้50,000บาท แต่วันนี้แลกได้แค่43,000บาท ทำให้ผู้ประกอบการฝั่งไทยบอกว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในไทยลดลง จริงๆ ไม่ได้ลดลง แต่ค่าบาทแข็งเกินไป จากที่เคยกินอาหารมื้อเย็นแบบจ่ายหนักๆ ก็อาจจะต้องเพลาลง เลือกจ่ายหนักเป็นบางมื้อแทน ส่งผลกระทบไปหมด ทั้งธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงศูนย์การค้า โรงแรม และอื่นๆ”

มาตรการฟรีวีซ่านี้จึงเป็นยาแรงสำคัญที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียให้มาเที่ยวไทยต่อเนื่อง สานเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศของรัฐบาลปี2563ให้ถึง2.22ล้านล้านบาท จากเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ41.8ล้านคน แต่ถ้าหากไทยไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม รายได้ตลาดต่างประเทศอาจลดลงได้ ทั้งนี้คาดว่าการหารือเกี่ยวกับมาตรการฟรีวีซ่าดังกล่าวของกระทรวงต่างๆ จะมีข้อสรุปชัดเจนก่อนวันที่25ม.ค.นี้

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)​ กล่าวว่า หากให้เรียงอันดับปัจจัยลบที่น่าห่วงมากที่สุดของภาคท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน อันดับแรกคือบาทแข็ง รองลงมาคือสถานการณ์แข่งขันสูงจากประเทศทั่วโลกที่ต่างให้ความสำคัญกับการทำรายได้จากภาคท่องเที่ยว ผ่านนโยบายต่างๆ เช่น การเปิดประเทศ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดอีเวนต์ระดับโลกที่จะเกิดขึ้น2อีเวนต์ใหญ่ในปีนี้ได้แก่ โอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเวิลด์ เอ็กซ์โป ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะได้นักท่องเที่ยวตลาดบนไปเที่ยวจำนวนมหาศาล อีกปัจจัยคือเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่เป็นปัจจัยลบภายนอกที่ประเทศไทยควบคุมไม่ได้

“แต่2ปัจจัยแรกอย่างเรื่องบาทแข็งและการแข่งขันสูง รัฐบาลสามารถควบคุม เร่งออกมาตรการมาแก้ปัญหา เพื่อกระตุ้นภาคท่องเที่ยวไทยได้”

หากรัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า มาช่วยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เช่น ด้านวีซ่า และอื่นๆ ก็จะช่วยทำให้รายได้ท่องเที่ยวไทยยังเดินหน้าเติบโตได้ โดยเฉพาะมาตรการด้านวีซ่า เมื่อผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว อยากให้เร่งประกาศว่าจะเริ่มใช้เมื่อไร ภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เตรียมแผนทำการตลาดอย่างตรงจุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย โดยปี 2562 มีจำนวน 11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4%  สร้างรายได้ 5.5 แสนล้านบาท เติบโต 6%  เทียบกับปี 2561 ขณะที่อินเดีย เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 3 ของไทยในเชิงจำนวน และอันดับ 5 ของไทยในเชิงรายได้  ในปี 2562 มีจำนวน 1.9 ล้านคน เติบโต 22% สร้างรายได้ 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%

ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และแอตต้า ประมาณการณ์ปี 2563 ตลาดจีนเที่ยวไทย 11.5-12 ล้านคน สร้างรายได้ 6 แสนล้านบาท และตลาดอินเดียเที่ยวไทย 2.2 ล้านคน สร้างรายได้ 9.2 หมื่นล้านบาท