'สงครามราคา' มือพิฆาตผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีจีน

'สงครามราคา' มือพิฆาตผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีจีน

'สงครามราคา' มือพิฆาตผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีจีน เพราะเมื่อราคาแบตเตอรี่ลดลง บรรดาผู้ผลิตแต่ละแห่งยิ่งพยายามขายแบตเตอรี่ตัดราคาคู่แข่ง จนนำไปสู่ภาวะขาดแคลนกระแสเงินสดในอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในจีนเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวในปี 2562 ตอกย้ำคำเตือนของบรรดาค่ายรถยนต์ชั้นนำในจีน ที่ออกมาเตือนในช่วงปลายปีว่า ตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคันของจีน ที่ปัจจุบันมีผู้เล่นเกือบ 500 ราย กำลังเป็นตลาดที่แออัด และเริ่มจะมีสภาพไม่ต่างจากยุคเกิดฟองสบู่ของบริษัทดอทคอมทั้งหลายที่ท้ายที่สุดฟองสบู่ก็แตก

การชะลอตัวของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นรายเล็กที่มีสายป่านการเงินไม่ยาวมากนักเริ่มปิดกิจการและถอนตัวจากธุรกิจ ขณะที่ยอดขายรถอีวี หรือรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคันปรับตัวร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนบรรดาซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ประเภทนี้ประสบปัญหาจ่ายเงินล่าช้าและส่งมอบรถยนต์ล่าช้าโดยถ้วนหน้ากัน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ทำให้บรรดาผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าและมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ล้ำหน้ากว่าเร่งขยายธุรกิจแบตเตอรี่เข้าไปในตลาดจีนเพราะกลัวเสียส่วนแบ่งตลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลผลิตแบตเตอรี่มากกว่าความต้องการของตลาด ท่ามกลางความท้าทายในในการทำตลาดปีนี้ที่มีมากขึ้น

157879316728

อย่างไรก็ตาม มีความคล้ายคลึงกันมากระหว่างตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของจีนในวันนี้ กับช่วงฟองสบู่แตกเมื่อ20ปีก่อน เมื่อบริษัททั้งหลายพยายามที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรื่องนี้ "เหลียน ฉิงเฟิง" รองประธานบริหารบริษัทปักกิ่ง อิเล็กทริก วิฮีเคิล โค (บีเจอีวี) มีความเห็นว่า สตาร์ทอัพที่มีอยู่ตอนนี้ประมาณ 80% อาจจะหายไปเพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงปีหรือสองปีนี้
หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างเต็มที่และพยายามให้ทุนอย่างไม่อั้น เพื่อทำให้จีนเป็นแหล่งน่าลงทุนที่สุดในสายตาผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้า

อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ก็เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดรถยนต์ใหญ่สุดของโลก แต่ขณะนี้ รัฐบาลปักกิ่ง เริ่มลดการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าลงเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 500 แห่งจะเหลือเพียงไม่กี่สิบแห่ง เพราะไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากธุรกิจไม่ได้ให้ผลกำไรตามที่คาด

“ผู้ผลิตรถยนต์บางแห่งอาจต้องปิดกิจการภายในปี 2564 เพราะขาดเงินทุน ไม่ก็ล้มเหลวในการต่อสายป่านให้ยาวไกลขึ้น แต่ภาวะดิ้นรนที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้อยู่รอดคือผู้นำที่แท้จริงในธุรกิจนี้ ”เหลียน กล่าว

บีเจอีวี เป็นหน่วยงานในเครือของปักกิ่ง ออโตโมทีฟ กรุ๊ป โค (บีเอไอซี) บริษัทผลิตรถยนต์ของรัฐบาลที่ผลิตรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ และผลิตรถยนต์ให้ฮุนไดในประเทศจีน รวมทั้งผลิตรถอีวีขนาดเล็ก บีเอไอซี เป็นเจ้าตลาดรถยนต์นั่งโดยสารอีวีมาสองปีติดต่อกัน โดยยอดขายเมื่อปี 2561 มีสัดส่วนประมาณ 19% และถ้าไม่นับรถขนาดเล็ก บริษัทอยู่อันดับ2ของจากบริษัทบีวายดี โค ที่ได้รับการสนับสนุนจากวอร์เรน บัฟเฟตต์

การสนับสนุนของรัฐบาลจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในจีน โดยรัฐบาลปักกิ่งตั้งเป้าเพิ่มจุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ให้ได้ 600,000 แห่ง ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้จุดชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ทั่วประเทศของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านแห่งภายในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าช่วยแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศได้แบบระยะยาวประกอบกับจีน ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตของโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่

เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า จีน เป็นตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 61.7% และในจีนมีรถอีวีวิ่งอยู่บนถนน 402,000 คัน อีกทั้งภายปี 2573 รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนในประเทศ 5 ล้านคัน

บรรดานักวิเคราะห์จากหลายสำนัก แสดงความวิตกกังวลว่า จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีน เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรถหลายแบรนด์เกิดขึ้น และมีกำลังการผลิตมากขึ้น แต่ในปี 2561ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ที่รวมทั้งแบบแบตเตอรี่, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฮบริด และฟิวเซล มีสัดส่วนแค่ 4% ของยอดขายโดยรวมที่มีจำนวนกว่า 23.7 ล้านคัน

157879315517

ขณะที่คำสั่งซื้อจากค่ายรถเพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มมีการเดินสายการผลิตรถไฟฟ้าครั้งแรก ราคาแบตเตอรีต่อหน่วยก็เริ่มปรับตัวลง ในปี 2553 ราคาอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ต่อแบตเตอรีที่วิ่งได้ระยะทาง 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง แต่ราคาก็ร่วงลงไปอยู่ที่ประมาณ 150 ดอลลาร์ในปี 2562 และคาดว่าจะทรุดลงไปอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ภายในปี 2573

เมื่อราคาแบตเตอรีลดลง ผู้ผลิตแต่ละแห่งยิ่งพยายามขายแบตเตอรีตัดราคาคู่แข่งเพื่อชิงส่วนแบ่งให้ได้มากที่สุด ผลลัพธ์ที่ตามมาคือภาวะขาดแคลนกระแสเงินสดที่แพร่สะพัดไปทั่วอุตสาหกรรมแบตเตอรีรถไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของการปิดกิจการของผู้ผลิตแบตเตอรีรถในจีนลงถึง 50% ภายในเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วจากที่มีอยู่จำนวน 200 แห่ง