ความรับผิดชอบร่วมกัน ของ 'สื่อ' และ 'สังคม'

ความรับผิดชอบร่วมกัน ของ 'สื่อ' และ 'สังคม'

อีกครั้งที่ได้เห็นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และความกระหายใคร่รู้ของสังคมที่เกินเลยไปมาก จากเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุชิงทรัพย์ร้านทอง จ.ลพบุรี แม้ในความเป็นจริง มีข้อปฏิบัติ หรือกฎข้อบังคับในองค์กรสื่อ แต่อาจไม่สำคัญเท่ากับสำนึกและความรับผิดชอบ

จากเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุชิงทรัพย์ร้านทอง ในห้างสรรพสินค้า จังหวัดลพบุรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 และกราดยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นการนำเสนอข่าวของ "สื่อมวลชน" และความกระหายใคร่รู้ของ "สังคม" ที่ "เกินเลยไปมาก" การรายงานข่าวหรือการแชร์เรื่องราวในโลกออนไลน์ลักษณะนี้ ถูกตั้งคำถามทุกครั้งที่เกิดเหตุทำนองนี้ แต่ดูเหมือน "สื่อ" และ "สังคม" ยังไม่ค่อยตระหนัก ยังเห็นความหละหลวมของการรายงานข่าว ยังเห็นการเผยแพร่คลิปวินาทีที่คนร้ายปล้นและกราดยิงผ่านสื่อสังคมออนไลน์รวมถึงสื่อปกติอย่างกว้างขวาง

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน มีแนวทางปฏิบัติในการรายงานข่าว และปัจจุบันองค์กรสื่อก็มีมากมายทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมผู้สื่อข่าวในส่วนต่างๆ ที่มีกรอบปฏิบัติชัดเจน อย่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ขององค์กรสื่อมวลชน ก็ระบุไว้ชัดว่า "พึงหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดสดบนสื่อสังคมออนไลน์ (Real Time Streaming) และการรายงานสดด้วยข้อความแบบทันทีและต่อเนื่อง (Real Time) ในกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เหตุการณ์ที่มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความรุนแรง การฆาตกรรมและการทำอัตวินิบาตกรรม รวมถึงเนื้อหาในเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน ความรุนแรงในครอบครัว เหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างและความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม"

ล่าสุดสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ประณามเหตุกราดยิงที่ลพบุรี และวอนสื่อยึดมั่นแนวปฏิบัติ ไม่เผยแพร่คลิป-ภาพซ้ำเติมความทุกข์ของญาติ และขอให้สื่อมวลชนยึดถือ "แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว"

ซึ่งสมาคมนักข่าวร่วมลงนามกับ 5 องค์กรวิชาชีพ เมื่อมีนาคม พ.ศ. 2559 แนวปฏิบัติระบุว่า สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าวผู้บาดเจ็บที่มีลักษณะอุจาดสยดสยองหรือน่าเวทนา ต้องไม่นำเสนอภาพข่าวศพของผู้เสียชีวิต และหลีกเลี่ยงภาพในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกต่อญาติของผู้เสียชีวิต และหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวของผู้เคราะห์ร้ายหรือญาติซ้ำๆ ที่เป็นการตอกย้ำความรุนแรง และความทุกข์โศกของผู้เคราะห์ร้ายและญาติ

หากในความเป็นจริง ข้อปฏิบัติ หรือกฎข้อบังคับใดๆ อาจไม่สำคัญเท่ากับ "สำนึก" และ "ความรับผิดชอบ" เราอยากเห็นความรับผิดชอบที่ "มากขึ้น" ของสื่อมวลชน เราอยากเห็นความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วยของ "สังคม" เราอยากเห็นการใช้เทคโนโลยีในการรายงานเรื่องราวต่างๆ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การส่งต่อข้อความ หรือการแชร์เรื่องราวต่างๆ บนโลกออนไลน์ ที่ไปเร็วยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ ก็เป็นคุณมหาศาล แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และส่งผลเสียต่อภาพรวม ก็อาจสร้างความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เช่นกัน