'ปรับเบี้ย' รถยนต์กลุ่มเสี่ยง กลยุทธ์อยู่รอด 'ธุรกิจประกันภัย'

'ปรับเบี้ย' รถยนต์กลุ่มเสี่ยง กลยุทธ์อยู่รอด 'ธุรกิจประกันภัย'

การเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย เป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย  หากปี2563 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่เกิน3%

 ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยหลายๆค่ายประเมินว่า เบี้ยประกันภัยน่าจะเติบโตได้ตั้งแต่ระดับ1.5-3% ชะลอตัวลงจากสิ้นปี 2562 คาดว่าจะโตได้ถึง 5%

นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจ  “ปัจจัยท้าทาย”ธุรกิจประกันวินาศภัย หนีไม่พ้น “การเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยรถภาคบังคับ” จะเริ่มมีผลบังคับใช้เดือน เม.ย.ปี2563 แน่นอนว่า จะมีผลต่อ “ตลาดประกันภัยรถยนต์” ซึ่งเป็นเสมือน “อู่ข้าวอู่น้ำในระบบ”  ด้วยพอร์ตรับประกันมีสัดส่วนถึง80%ของเบี้ยรับประกันภัยทั้งระบบ 

“อานนท์ วังวสุ”  นายกสมาคมประกันวินาศภัย ระบุว่า การปรับเพิ่มความคุ้มครองตรงนี้ คงไม่มีผลมากจากการเพิ่มสินไหมรถยนต์กรณีเสียชีวิต เพราะเปอร์เซ็นต์การจ่ายสินไหมในส่วนนี้ ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับค่าซ่อม ค่าอะไหล่ โดยเฉพาะรถยนต์ใหม่ป้ายแดง ที่เป็นเบี้ยอู่ห้าง “ขาดทุนกันมาก” จำเป็นต้องปรับเบี้ยขึ้น เพราะคงจะไม่มีใครยอมขาดทุนไปตลอด

ดังนั้น จะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับทั้งระบบปี2563เพิ่มขึ้น  คาดว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ซ่อมอู่ห้าง จะต้องถูกปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10%  ตรงนี้เป็นสัดส่วน 50% ของพอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์แล้ว

“การปรับเบี้ยอู่ห้างรถใหม่ป้ายแดง จะช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น ทำให้ตลาดประกันภัยรถยนต์เติบโตขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรม คงไม่ได้หมายความว่า ประกันภัยรถยนต์ขาดทุนแล้ว จะต้องขึ้นเบี้ยประกันภัยทั้งหมด คงต้องดูว่าประกันภัยรถยนต์ตัวไหนขาดทุน เราก็ปรับตรงนั้น”

1578887146100  

ส่วนการเพิ่มค่าสินไหมกรณีเสียชีวิต  "อานนท์"  ยืนยันว่าทางบริษัทประกันฯไม่ได้กลัว แม้ว่าพอร์ประกันภัยรถยนต์ขาดทุนกันอยู่ เพราะไม่ได้ขาดทุนตรงนี้ แต่ขาดทุนเรื่องการซ่อม เพราะค่าแรงค่าอะไหล่แพง จึงขอย้ำว่า การดูแลคนเจ็บหรือคนตายเป็นการช่วยสังคม ในแง่ที่ว่าคนตายอาจจะเป็นหัวหน้าครอบครัว กแล้วเราก็ไม่อยากให้การสูญเสียหัวหน้าครอบครัว จะทำให้คนอื่นๆในครอบครัวต้องลำบาก โดยการเพิ่มค่าสินไหม อยากให้เป็นค่าสินไหมที่คืนให้สังคมที่เป็นธรรมพอสมควร  โดยประกันซ่อมรถเป็นล้านได้ ฉะนั้นก็ต้องจ่ายให้คนตายเป็นล้านบาทได้เช่นกัน เพราะประกันภัยเห็นค่าชีวิตคนไทยมากกว่า

นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างประกันภัยรถยนต์ ที่เห็นตัวเลขว่าขาดทุนมาต่อเนื่อง อาจจะมีการใช้ข้อมูลมาปรับเบี้ยประกันภัยขึ้นในพอร์ตที่ขาดทุน ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่ต้องมีลูกค้าใหม่ เพียงแต่ทำให้พอร์ตงานลูกค้าเก่าที่ขาดทุน ทำให้มีกำไรด้วยการเพิ่มเบี้ย เพื่อให้สอดรับความเสี่ยงที่เป็นจริง ทำให้ประกันภัยรถยนต์ในปี 2563 จะมีการเติบโตไม่น้อยกว่าปีนี้ 2562

ทางด้านปัจจัยท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม หวังว่าครึ่งหลังของปี2563 สงครามการค้าจะดีขึ้น หรือมีความชัดเจนขึ้น การส่งออกไทยอาจจะดีขึ้น ส่วนโครงการลงทุนภาครัฐที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ในทางอ้อมจะช่วยทำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา เช่น การสร้างอสังหาริมทรัพย์บนแนวรถไฟฟ้า กับแนวถนน หรือแม้แต่รถไฟความเร็วสูง  คือการเชื่อมโยงของธุรกิจแต่ละภาคเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกอย่างก็จะดีขึ้น และการท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่อง ย่อมส่งผลดีต่อประกันอื่นๆเช่น ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันอัคคีภัยบ้านที่อยู่อาศัย ประกันภัยขนส่งทางทะเล และประกันภัยการเดินทาง เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีบริษัทฯหลายค่าย ประกาศเล็งปรับขึ้นเบี้ยประกันรถยนต์กลุ่มเสี่ยงในปี2563 ส่วนใหญ่จ่อปรับขึ้นเบี้ยประมาณ2% เช่น กลุ่มซิตี้คาร์ ที่ผู้ขับขี่เป็นวัยรุ่น ส่วนรถยนต์ที่ซ่อมอู่ห้าง จะต้องถูกปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% นำโดยพี่ใหญ่อย่าง “วิริยะประกันภัย” ที่ออกมาส่งสัญญาณเรื่องนี้   โดย “สยม โรหิตเสถียร” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย บอกว่า  เราจะพิจารณาปรับขึ้นเบี้ยอย่างระมัดระวังและสมเหตุสมผม เนื่องจากกำลังซื้อยังคงชะลอตัว โดยจะขึ้นเบี้ยเฉพาะในกลุ่มรถเสี่ยง เช่น กลุ่มรถที่วัยรุ่นใช้ กลุ่มรถซิตี้คาร์ รวมถึงจะพิจารณาตามอายุผู้ขับขี่ และจำนวนระยะเวลาการใช้รถ 

ปัจจุบันรถกลุ่มเสี่ยงมีสัดส่วน 60-70% ของพอร์ตรับประกันภัยรถยนต์ ส่วนใหญ่รถกลุ่มเสี่ยง เป็นรถซิตี้คาร์ อายุผู้ขับขี่ 20-35 ปี เป็นนักศึกษาจบใหม่ เริ่มต้นทำงาน และเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ในกลุ่มรถประวัติดีไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเมื่อบริษัทฯ นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการรับประกัน ทำให้ต้นทุนลดลง สามารถลดเบี้ยให้กับผู้บริโภคได้ 

สำหรับสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาในปี2563 “ยังคงรุนแรง”   โดย "จีรพันธ์ อัศวะธนกุล"  กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ หรือ TVI มองว่า ทุกบริษัทพยายามให้อัตราการต่ออายุสำหรับลูกค้าเดิม ผ่านการติดต่อบริษัทโดยตรงเพิ่มขึ้น จากงานลูกค้าดีลเลอร์ ไฟแนนซ์ การส่งงานต่ออายุอาจหลุดค่อนข้างมาก และสำหรับลูกค้าประวัติขับขี่ดี ยังลดเบี้ยได้1-2% แม้ความคุ้มครองประกันภัยรถในปี2563จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในปี 2563 เบี้ยประกันภัยใหม่ๆ อาจจะไม่ได้โตมาก  แต่จะมีการปรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในส่วนที่ขาดทุน ส่วนการประกันภัยสุขภาพพ่วงบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยนั้น  ส่วนที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการตามสมควร  ยังต้องรอในปี2563 ว่ารัฐบาลจะออกมาอย่างไร “ชวดหรือไม่ชวด”