'อีอีซี' ชูแผนพัฒนาชุมชน แก้จน 3.5 แสนคน ใน 3 ปี

'อีอีซี' ชูแผนพัฒนาชุมชน แก้จน 3.5 แสนคน ใน 3 ปี

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านมาที่เน้นในเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้คนในอีอีซี มองว่าตนเองไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซีเท่าที่ควร ทำให้เกิดการต่อต้านในบางพื้นที่

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ออกมาเปิดเผยแผนที่ชัดเจนในการพัฒนาชุมชนทั้ง 3 จังหวัด เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในทุกๆด้านอย่างชัดเจน โดยแผนการหลักๆ จะยกระดับรายได้ผู้ที่มีรายได้น้อย (มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) ในพื้นที่ อีอีซี ที่มีประมาณ 3.5 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี) จำนวน 2.4 แสนคน ให้หลุดพ้นจากผู้มีรายได้น้อยภายใน 3 ปีโดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดทำโครงการบัณฑิตอาสาโดยจ้างบัณฑิตเหล่านี้ประมาณ 200 คน ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลคนจนรายครัวเรือน เพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยการเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งจะขยายการท่องเที่ยวในพื้นที่รอง เชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละ 1.2 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี โดยจะเสนอรัฐบาลให้ผู้ที่มาเที่ยวนอกตัวเมืองใน อีอีซี สามารถนำรายจ่ายมาหักภาษีบุคคลธรรมดาได้ แบบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และจะสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมชนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ในส่วนของเอสเอ็มอี ก็ได้มีโครงการ “เชื่อมเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก” ซึ่งจะยกระดับเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการนำเอสเอ็มอีเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงเอสเอ็มอีไทย เพื่อเป็นซัพพลายเออร์ หรือผู้รับเหมาให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายจัดพื้นที่เฉพาะเอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรม และกำหนดเขตส่งเสริมแบบคลัสเตอร์ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ) และให้สิทธิประโยชน์กับเอสเอ็มอีที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านกฎระเบียบโดยใช้กลไก พ.ร.บ.อีอีซี

157889103429

นอกจากนี้โครงการ อีอีซี ยังช่วยสร้างงานที่มีคุณภาพกว่า 4.65 แสนคนภายใน 5 ปี โดยจะพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ อีอีซี ผ่านทาง อีอีซีโมเดล โดยจะพัฒนาหลักสูตรเร่งด่วน 120 หลักสูตร พัฒนาแรงงาน 2 หมื่นคน ภายใน 1 ปี และยังมีหลักสูตรจำนวนมาก เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ๆให้กับแรงงาน เพื่อให้ตรงกับความความต้องการของอีอีซี ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนอีกส่วนหนึ่ง

ภาครัฐและเอกชนยังได้ทุ่มงบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ยกระดับสิ่งแวดล้อมโดยมีโครงการเร่งด่วน 14 โครงการ เช่น ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ระบบบำบัดน้ำเสีย และโรงงานเผาขยะผลิตไฟฟ้าอีก 6 แห่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งวแวดล้อมได้อย่างถาวร

โครงการเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการต่างๆที่จะตามออกมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้ประชากร คุณภาพชีวิต สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ของพื้นที่อีอีซีให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปเป็นโมเดลเพื่อใช้พัฒนาพื้นที่อื่นๆต่อไปทั่วประเทศ