เตือนผู้ปกครอง! เที่ยววันเด็ก อย่างไรให้ปลอดภัย

เตือนผู้ปกครอง! เที่ยววันเด็ก อย่างไรให้ปลอดภัย

มูลนิธิกระจกเงา เปิดพฤติกรรมคนร้าย "ลักพาตัวเด็ก" พร้อมแจ้งเตือนภัย 22 รายชื่อต้องสงสัย "ลักพาตัวเด็ก" ให้ตำรวจเฝ้าระวัง

วันนี้ (10 ม.ค.) นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ได้ส่งมอบแฟ้มประวัติผู้ก่อเหตุลักเด็ก 22 รายชื่อ ให้กับ พล.ต.ท.พิทยา ศิริรักษ์ จตร. เพื่อเสนอสตช.เฝ้าระวัง หวั่นก่อเหตุซ้ำในช่วงเทศกาลวันเด็ก

โดย นายเอกลักษณ์ ได้ให้ข้อมูลสถิติรับแจ้งเด็กหาย ปี 2562 ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 244 ราย สาเหตุหลักกว่า 74 เปอร์เซ็นต์ คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี โดยเด็กหญิงหายออกจากบ้านมากกว่าเด็กชาย

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เด็กหาย พบว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีสถิติรับแจ้งเด็กหายลดลงทุกปี แต่ก็ยังถือว่า มีความรุนแรงของปัญหา เนื่องจากแต่ละปี มีเด็กหายออกจากบ้านเกินกว่า 200 คนทุกปี ทั้งนี้ ตัวเลขเด็กหายของทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้แจ้งมาที่มูลนิธิกระจกเงา อาจมีตัวเลขมากกว่านี้อีกหลายเท่า

ทั้งนี้ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กไปให้ความไว้วางใจเพื่อนหรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์มากกว่าคนในครอบครัว จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้โดยง่าย

แม้ว่าเด็กจะสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง แต่โลกภายนอกบ้าน มีอันตรายหลายอย่างสำหรับเด็ก ทั้งการคุกคามหรือหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก หรือมีความเสี่ยงในการถูกล่อลวง หรือกระทำความรุนแรง

157865544927

พร้อมกันนี้ นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงา ยังได้ติดตามข้อมูลพฤติกรรมผู้ก่อเหตุลักพาตัวเด็กในประเทศไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบไม่ได้เป็นลักษณะกลุ่มแก๊งขบวนการ แต่ผู้ก่อเหตุลงมือตามลำพัง หรือเป็นสามีภรรยากัน โดยผู้ก่อเหตุทุกราย ไม่ได้ใช้กำลังบังคับเด็กแต่อย่างใด แต่จะใช้วิธีเข้าไปพูดคุยตีสนิท โน้มน้าวชักชวน หลอกว่าจะให้เงิน จะพาไปซื้อของเล่น จะพาไปเล่นเกมออนไลน์ จะพาไปซื้อขนม หรือหลอกว่าพ่อแม่ให้มารับ โดยผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ไม่มีพาหนะจะใช้การเดินทางโดยรถสาธารณะ

“มีผู้ก่อเหตุรายหนึ่ง ทำทีเป็นโค้ชสอนฟุตบอล ตระเวนไปตามสนามกีฬาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตีสนิทกับเด็ก แล้วหลอกพาไปกระทำทางเพศ โดยผู้ก่อเหตุรายนี้ก่อเหตุมาแล้วมากกว่า 3 ครั้ง เพิ่งพ้นโทษออกมาไม่นานนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและป้องปรามไม่ให้ก่อเหตุซ้ำ” นายเอกลักษณ์ กล่าว

นายเอกลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีกรณีเด็กชายอายุ 11 ปี หายตัวไปจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ถูกลักพาตัวไปกระทำทางเพศ โดยผู้ก่อเหตุที่เคยก่อเหตุในลักษณะเดียวกันมาแล้ว ซึ่งได้ก่อเหตุซ้ำหลังพ้นโทษไม่นาน ทั้งนี้ผู้ก่อเหตุลักพาตัวเด็กในไทยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลักพาตัวเด็กไปกระทำทางเพศ โดยมีผู้ก่อเหตุบางรายที่ฆาตกรรมเด็กเพื่อปิดปาก นอกจากนี้ผู้ก่อเหตุบางราย นำเด็กไปเร่ร่อนขอทานหรือขายสินค้า และบางรายมีลักษณะมีความเสน่หาในตัวเด็กอยากนำไปเลี้ยงดู

“มีผู้ก่อเหตุรายหนึ่ง ทำทีเป็นโค้ชสอนฟุตบอล ตระเวนไปตามสนามกีฬาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตีสนิทกับเด็ก แล้วหลอกพาไปกระทำทางเพศ โดยผู้ก่อเหตุรายนี้ ก่อเหตุมาแล้วมากกว่า 3 ครั้ง เพิ่งพ้นโทษออกมาไม่นานนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและป้องปรามไม่ให้ก่อเหตุซ้ำ”

นายเอกลักษณ์ กล่าว

นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า กระบวนการในระบบราชทัณฑ์ ซึ่งดูแลผู้ต้องขังจำนวนมาก ลักษณะเป็นไปเพื่อรับโทษตามคำพิพากษา ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศที่กระทำต่อเด็ก ไม่ได้มีกระบวนการพิเศษที่จะป้องปรามไม่ให้คนเหล่านี้ออกมาก่อเหตุซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการปรับทัศนคติของผู้ก่อเหตุ ในสหรัฐอเมริกาก็พบว่า ไม่สามารถปรับพฤติกรรมคนเหล่านี้ได้ รัฐจึงใช้มาตรการป้องปราม ติดตาม เฝ้าระวังภายหลังผู้ก่อเหตุคดีทางเพศกับเด็กพ้นโทษไปแล้ว แต่ในประเทศไทยขาดการติดตามคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง จึงมีแนวโน้มที่คนเหล่านี้ไปก่อเหตุซ้ำอีกตามสถิติที่ผ่านมา

นายเอกลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยในวันนี้มูลนิธิกระจกเงาได้ยื่นข้อมูลลับบุคคลควรเฝ้าระวังซึ่งเคยก่อเหตุลักพาตัวเด็กจำนวนทั้งสิ้น 22 รายให้กับ พล.ต.ท.พิทยา ศิริรักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางประสานงานและกำหนดแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามคนกลุ่มนี้ไม่ให้ก่อเหตุซ้ำอีก

พร้อมทั้งฝากคะแนะนำแก่ผู้ปกครองในการเตรียมตัวก่อนพาบุตรหลานออกไปเที่ยวงานวันเด็ก ดังนี้

1.ทราบรูปพรรณของบุตรหลาน ส่วนสูง น้ำหนัก สีเสื้อผ้า

2.ถ่ายรูปล่าสุด โดยเฉพาะชุดที่สวมใส่ของลูก ก่อนออกจากบ้าน

3.ทำป้ายชื่อพร้อมเบอร์ติดต่อ ของครอบครัวติดตัวเด็กไว้

4.ให้ความรู้แก่เด็ก ว่า หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ขอความช่วยเหลือได้กับใคร

5.ให้ความรู้/ซักซ้อมบุตรหลาน ว่า หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ

ด้าน พล.ต.ท.พิทยา กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จะนำไปตรวจสอบ เพื่อเฝ้าระวังดูพฤติกรรมบุคคลเป้าหมาย ให้ตำรวจท้องที่ไปติดตามตรวจสอบ เพื่อปัองกันการก่อเหตุซ้ำ ซึ่งที่ผ่านมา กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลผู้ที่เคยก่อเหตุแยกเป็นกรณีไว้อยู่แล้ว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยินดีที่จะรับข้อมูลขากมูลนิธิกระจกเงา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาคนหาย และเด็กหายอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.ท.พิทยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับข้อมูลก็จะมีการประสานตำรวจในท้องที่เพื่อเฝ้าติดตามผู้ที่เคยก่อเหตุในลักษณะ 1 ต่อ 1 โดยไปเยี่ยมเยียนและเฝ้าระวังการกลับมาก่อเหตุอีก อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี ก่อนปรับเฝ้าระวังลดระดับลง หากผู้ก่อเหตุไม่มีแนวโน้มกระทำความผิดซำ้อีก สำหรับแนวโน้มผู้ก่อเหตุกลับมากระทำความผิดซ้ำในปีที่ผ่านมามีประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ โดยกระทำความผิดซำ้มากที่สุดได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และความผิดทางเพศ