ภัยแล้งกระทบหนัก ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง

ภัยแล้งกระทบหนัก ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง

กรมการค้าภายในได้ออกมาประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกเจ้า ซึ่งคาดว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ น่าจะทรงตัวในระดับสูงกว่า 14,000-15,000 บาทต่อตัน 

ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ราคา 14,000 บาทต่อตัน ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 9,000-10,000 บาทต่อตัน จากปัจจุบันตันละประมาณ 8,000 บาท เพราะคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังจะเสียหายเกือบครึ่งหนึ่ง หรือจะมีผลผลิตเพียง 3.5-4 ล้านตันข้าวเปลือก จากปกติที่ประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก หรือหายไป 50%

นอกจากนี้ ราคาผักสดปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปริมาณผลผลิตจะได้รับความเสียหายมาก โดยเฉพาะผักที่ต้องใช้น้ำมาก เช่น ผักชีคะน้า โดยจะมีการนำผักอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันแต่ใช้น้ำน้อยมาปลูกทดแทน 

157865073491

มะนาว คาดว่า ปีนี้ราคาน่าจะสูงกว่าที่ผ่านมามาก จึงแนะนำให้ผู้ที่ใช้มะนาวจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร เร่งซื้อมะนาวในช่วงนี้ที่ยังราคาต่ำมาแช่แข็งไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งนี้ สำหรับผลไม้สดอาจมีบางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่กรมการค้าภายในได้หาแนวทางบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกร และหามาตรการเชื่อมโยงจากแหล่งผลิตตรงสู่ผู้บริโภคไว้แล้ว

ในขณะที่เนื้อหมู คาดว่า ราคาจะสูงขึ้นเช่นกัน จากสภาพอากาศร้อน ทำให้หมูโตช้า และการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในหมูในประเทศจีน เวียดนาม และลาว จึงทำให้ราคาหมูมีชีวิตในจีนปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท เวียดนามกิโลกรัม 120 บาท ขณะที่ไทยขณะนี้ยังอยู่ที่ไม่เกินกิโลกรัมละ 75 บาท แต่กรมการค้าภายในได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่า หากราคาเกินกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท อาจมีมาตรการจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีเนื้อหมูบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ และราคาไม่สูงมากจนเกินไป

"หากมองในแง่ดี ราคาเกษตรที่สูงขึ้นส่งผลดีกับเกษตรกรที่ได้ราคาดีขึ้น แต่ผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบในช่วงสั้นๆ เมื่อสถานการณ์ภัยแล้งผ่านไปราคาสินค้าเกษตรจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นกรมจะใช้กลที่มีอยู่ในการแก้ปัญหา เช่น ร้านธงฟ้า ที่มีอยู่กว่า 102,000 ร้านทั่วประเทศ โดยจะเชื่อมโยงนำผลผลิต จากแหล่งผลิตที่ไม่ได้รับความเสียหาย กระจายไปยังร้านธงฟ้าต่างๆ เพื่อให้ไปถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม"

ปาล์มน้ำมัน ที่ขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยผลปาล์มสดกิโลกรัมละ 6-7 บาท จากปี 2562 ที่กิโลกรัมละ 2.50-3 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) กิโลกรัมละ 35 บาท จากที่เคยกิโลกรัมละ 16-18 บาท ซึ่งได้ขอความร่วมมือผู้ค้าให้ปรับราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น 

โดยราคาน้ำมันปาล์มขวดเพื่อการบริโภคขณะนี้ควรจะอยู่ที่ขวดละ 42-43 บาท เพื่อให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยทั้งระบบอยู่ได้ โดยเฉพาะชาวสวนปาล์ม ที่เดือดร้อนจากการขายผลผลิตราคาต่ำมาหลายปีแล้ว 

ดังนั้น ปีนี้เมื่อราคาผลปาล์มสูงขึ้นควรให้โอกาสให้เกษตรกรบ้าง ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคจะเข้าใจและจะเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น เมื่อราคาผลปาล์มสดลดลง ราคาน้ำมันขวดก็จะลดลงตาม อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอาจหันมาบริโภคน้ำมันพืชอื่นทดแทนได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันหมู ที่ราคายังไม่ปรับขึ้น

สำหรับความกังวลของสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจกระทบต่อน้ำดื่ม จนอาจทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดปรับขึ้นราคาขายว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดยังอยู่ในภาวะปกติ โดยยังขายอยู่ที่ขวดละ 5-10 บาท และเชื่อว่าภัยแล้งจะไม่รุนแรงจนทำให้ขาดแคลนน้ำมาผลิตน้ำดื่มและดันให้ราคาต้องขยับขึ้น 

รวมทั้งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาลและหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ และไม่ทำให้ราคาน้ำดื่มต้องปรับขึ้นแน่นอน รวมไปถึงราคาสินค้าอื่นที่ยัังไม่มีการขอปรับราคาขึ้น