5 ไอเดียสอน 'เด็ก' ให้ใช้เงินเป็น

5 ไอเดียสอน 'เด็ก' ให้ใช้เงินเป็น

เปิดไอเดียสอดแทรกแนวคิดในการใช้เงินให้เด็ก ปูพื้นทัศนคติที่ดีในการบริหารจัดการเงินในอนาคต

“เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน” เนื้อเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีที่แสนจะคุ้นเคย มักจะถูกเปิดซ้ำไปซ้ำมาเมื่อวันเด็กกำลังจะวนมาถึงในทุกๆ ปี หนึ่งในหน้าที่ของเด็กที่ถูกกล่าวถึงคือข้อ 8 "รู้จักออมประหยัด" ที่สะท้อนว่าเรื่องการบริหารจัดการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย 

การสอนและปลูกฝัง วินัยทางการเงินให้เด็กโดยตรงเหมือนเรียนหนังสือ อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดในการถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่ความทรงจำของเด็กๆ และแทรกซึมจนเป็นปรกติวิสัย

สำหรับใครที่อยากส่งเสริมพฤติกรรมกาารใช้เงินที่ดีให้เด็กๆ ในบ้าน ลองหยิบไอเดียการสอนเด็กเรื่อง “เงิน” ง่ายๆ ไปประยุกต์ใช้

157871176910

  • ออมสินสู่เป้าหมาย

การออมที่ทำได้ง่ายที่สุด คือการสะสมเงินเล็กๆ น้อยๆ รวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งการออมเงินใส่กระปุกปิดทึบอาจทำให้หนูน้อยรู้สึกเบื่อ หากลองเปลี่ยนเป็นภาชนะอะไรสักอย่างที่ใสแจ๋วมองเห็นที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น การนำออกมานับเป็นระยะ ช่วยกระตุ้นความอยากสะสมเงินให้มากขึ้น นอกจากนี้การชักชวนให้ออมเงิน จะต้องมีการตั้งเป้าหมายในการออม โดยการกำหนดเป้าหมายไม่ใช่แค่ออมเงินเพื่อซื้อให้เพียงพอสำหรับซื้อบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น แต่ต้องชวนตั้งเป้าหมายออมในระยะยาว สม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย เช่น ออมเพื่อเรียนในสิ่งที่เด็กรู้สึกสนใจในอนาคต ออมเพื่อซื้อบ้านในฝัน ฯลฯ ที่มีความเป็นไปได้ เพื่อจูงใจให้สนุกกับการออม ที่จะนำไปสู่นิสัยที่ดีในการบริหารจัดการเงินในอนาคตได้ด้วย

  • เปิดโอกาสให้ตัดสินใจ

การทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ แต่เป็นเรื่องของพวกเขาด้วย การเปิดโอกาสให้รู้จักชั่งน้ำหนักผลลัพธ์ที่ตามมา เช่น ให้โจทย์ง่ายๆ ตามสถานการณ์ เช่น “หากซื้อวิดีโอเกมนี้ เงินก็จะไม่พอซื้อรองเท้าคู่นั้น” เด็กๆ จะได้ลองตัดสินใจชั่งน้ำหนักเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหาทางออกใหม่ๆ และอธิบายผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในแบบของตัวเอง โดยมีผู้ปกครองช่วยสนับสนุนอยู่ข้างๆ อย่างเข้าอกเข้าใจ และไม่ตัดสินการตัดสินใจของพวกเขา

  • แสดงให้เห็นว่าการได้มาซึ่งสิ่งของต้องมีค่าใช้จ่าย

เด็กๆ ต่างคุ้นเคยกับการเป็นผู้รับทั้งเงินและสิ่งของ การพาพวกเขามาอยู่ในสถานการณ์จริงที่ต้องใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินเพื่อเด็กๆ เอง 

การแสดงให้เห็นค่าใช้จ่ายไม่ใช่เพียงแค่การควักเงินในกระเป๋าจ่ายค่าของเล่นให้เด็กๆ แต่ทำให้เด็กมีส่วนในการใช้จ่ายด้วย เช่น นำเงินสะสมของพวกเขามาที่ร้าน ส่งเงินไปให้แคชเชียร์ด้วยตัวเอง การกระทำที่เรียบง่ายนี้จะมีผลกระทบมากกว่าการบรรยายให้ฟังหลายเท่าตัว

ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงการสร้างแรงกระตุ้นการซื้อที่มากเกินความจำเป็น โดยก่อนที่จะจับจ่าย แทนที่จะพร่ำบอกว่าการหาเงินมาใช้จ่ายนั้นยากลำบาก ลองใช้วิธีสนับสนุนให้เด็กๆ ทบทวนความคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อบางสิ่งบางอย่าง

เช่น มีกติกาหลวมๆ ว่าต้องรออย่างน้อยหนึ่งวันก่อนที่จะซื้อสิ่งใดก็ตามที่มีราคาสูงเกิน 500 บาท (จำนวนเงินแล้วแต่ตกลง) โดยเป็นไปได้ว่ามันจะยังคงหรือไม่อยู่แล้วในวันพรุ่งนี้ การตัดสินใจอย่างรอบคอบและการเรียนรู้ความผิดหวังบ้าง จะนำไปสู่การตัดสินใจเรื่องเงินเมื่อก้าวไปสู่การทำงานระดับบริหารที่ต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบได้

  • ให้ค่าคอมมิชชั่น 

ทำภารกิจสนุกๆ เช่น จ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับพวกเขาตามงานที่พวกเขาทำรอบๆ บ้าน เช่น ทำความสะอาดห้องครั้งใหญ่ หรือทำภารกิจอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเป็นข้อตกลงร่วมกันกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าคอมมิชชั่น (กำหนดขึ้นเป็นพิเศษ ไม่ใช้ให้เป็นค่าจ้างทำงานบ้านเป็นประจำ) แนวคิดนี้ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าเงินสามารถมาในรูปแบบของค่าตอบแทนต่างๆ ไม่ใช่ได้มาจากการมอบให้เป็นประจำเท่านั้น 

  • ตั้งค่าตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่าง

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่า นิสัยการใช้เงินในเด็กนั้นเกิดขึ้นเมื่ออายุ 7 ขวบ ดวงตาเล็กๆ ของเด็กวัยนี้จะเฝ้ามองพฤติกรรมของผู้ใหญ่แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวในทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องเงินด้วย ถ้าคนในครอบครัวถกเถียงหรือทะเลาะกันเรื่องเงินบ่อยๆ จะส่งผลต่อทัศนคติเรื่องเงินของเด็กในระยะยาว แต่หากเห็นพฤติกรรมการใช้เงินของผู้ปกครองมีระบบระเบียบ พวกเขาจะสังเกตและเลียนแบบโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น หากต้องการให้เด็กๆ ในครอบครัว จงหาปุ่มตั้งค่าตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการป่าวประกาศข้อดีของการบริหารจัดการเงินให้ฟังทุกๆ วัน โดยไม่ทำอะไรเลย 

เรื่องนี้ไม่ใช่ความท้าทายของเด็ก แต่เป็นความท้าทายที่ผู้ใหญ่ที่ต้องพยายามปรับพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า การพยายามทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่เสมอ เป็นการขัดเกลาพฤติกรรมของตัวเองทางอ้อม ที่ไม่ใช่แค่จะให้ผลดีกับเด็กๆ ในปกครอง แต่ยังส่งเสริมความแข็งแกร่งเรื่องวินัยทางการเงินของตัวเองได้ด้วย

จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว การปลูกฝังวินัยทางการเงินให้กับลูกจะเป็นไปในทิศทางใด ย่อมขึ้นอยู่กับแนวคิดของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ช่วยส่งเสริมความคิดสนับสนุนการกระทำของลูกหลาน ให้มีทัศนคติในการบริหารจัดการเงินที่ดี ที่จะช่วยสร้างความสนใจเรื่องการจัดการเงินของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ส่งผลดีทั้งปัจจุบันและอนาคต

อ้างอิง: 15 Ways to Teach Kids About Money