รองนายกฯ เผย เหลือน้ำใช้พอแค่อุปโภคบริโภคในแล้งนี้ ขอประชาชนใช้น้ำประหยัด

รองนายกฯ เผย เหลือน้ำใช้พอแค่อุปโภคบริโภคในแล้งนี้ ขอประชาชนใช้น้ำประหยัด

ตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับมือภัยแล้ง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติวันนี้ ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.63 ซึ่งได้เห็นชอบกรอบโครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ในการควบคุมวิกฤติน้ำในภาวะรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง (ระดับ 2) โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้อยู่ในวงจำกัด 

โดยจะมี สทนช. เป็นฝ่ายเลขาฯ และผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น มาปฏิบัติงานร่วมกัน โดยจะใช้ห้องประชุมชั้น 4 อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ 

ซึ่งกองอำนวยการฯ จะแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มคาดการณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ กลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ และจะสรุปรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)ในฐานะผู้บัญชาการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะๆ

ขณะเดียวกัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ หากมีเกณฑ์เสี่ยงที่คาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤติ ก็จะต้องพิจารณาเสนอการกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง หรือระดับความรุนแรง สถานการณ์ภาวะวิกฤติน้ำ (ระดับ 3) ให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศตามมาตรา 58 หรือคำสั่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตามมาตร 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หากเกิดกรณีวิกฤติตามลำดับต่อไป

ทั้งนี้ รองนายกฯ ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการฯ ได้กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกล่าวในระหว่างสัมภาษณ์หลังการมอบนโยบายว่านายกฯและรัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยแล้ง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เพราะในปีนี้น้ำที่มีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หรือหากต้องนำไปใช้เพื่อการเกษตรคงต้องประหยัดมากๆ หรือต้องเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานว่า มีการปลูกพืชในฤดูแล้งนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาปรังราว 3ล้านไร่ โดยอยู่ในเขตชลประทานเกือบ 1.6 ล้านไร่ ซึ่งถ้าต้องแบ่งน้ำต้นทุนหน้าแล้งให้ เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่ที่ห้ามไม่ให้ปลูกเหล่านี้ จะต้องดึงน้ำสำรองต้นฤดูฝนที่กันเผื่อกรณีฝนมาล่าช้ากว่าปกติไว้ถึงพันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร และนั่นหมายถึง ความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในช่วงที่ฝนยังไม่มา ซึ่งคาดว่าอาจล่าไปถึงเดือนกรกฎาคม หรือเกือบสองเดือนจากฤดูฝนปกติ

สำหรับพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแผน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย ต้องหามาตรการลดผลกระทบ ชดเชยหรือเยียวยา โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง

“กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะมีการติดตาม ประเมินผล ผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรมไปตลอดแล้งนี้ และในช่วงฤดูฝนถัดไป” พลเอกประวิตรกล่าว

พลเอกประวิตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ ได้บูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ไว้ล่วงหน้าในการจัดเตรียมแหล่งน้ำสนับสนุนในพื้นที่เสี่ยงจะขาดแคลนน้ำพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค สถานพยาบาล และน้ำเพื่อสนับสนุนพืชเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ โดยการปรับแผนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานในปีงบประมาณ 2563 ที่จัดลำดับความสำคัญของโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชาชน ในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล การซ่อมแซมระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายน้ำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น เป็นต้น รวมถึงให้มีการเร่งรัดดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมระบบน้ำ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ แก้มลิง ในกรอบวงเงินงบประมาณปี 2563 ควบคู่กันด้วย เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำได้ทันในฤดูฝนปี 2563 ด้วยเช่นกัน