‘จิสด้า’ส่องภาพดาวเทียมหาแหล่งน้ำใหม่สู้ภัยแล้ง

‘จิสด้า’ส่องภาพดาวเทียมหาแหล่งน้ำใหม่สู้ภัยแล้ง

“จิสด้า”ประยุกต์ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจหาแหล่งน้ำขนาดเล็กพื้นที่ 2-3 ไร่ พบกว่า 1.4 แสนบ่อ ส่งข้อมูลให้ สนทช.หวังเป็นทางเลือกสู้ภัยแล้ง เล็งติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำอัตโนมัติแจ้งผลเรียลไทม์ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยชุมชนบริหารจัดการการใช้น้ำ

นายอนุสรณ์ รังสีพานิช รักษาการนักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยถึงวิกฤติภัยแล้งปี 2563 ว่า ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนอย่างน้อย 14 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,785 หมู่บ้านในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง บางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ขณะที่เกษตรกรหลายรายต้องยอมปล่อยพืชผลยืนต้นตาย เพื่อรักษาน้ำเอาไว้อุปโภคบริโภค

157864019385

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10% ฝนทิ้งช่วงอยู่นาน 2 เดือน (มิ.ย.-ก.ค.) น้ำในเขื่อนหลักมากกว่า 10 แห่งเข้าขั้นวิกฤติ และในครั้งนี้ถือว่าอยู่ในภาวะแล้งกลางถึงแล้งอ่อนๆ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั้งโลก แต่สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ต่อเนื่องถึงปี 2564 ปัญหาจะบรรเทาลงระดับหนึ่ง

“ส่วนสถานการณ์ของภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนเข้ามาบ้างประปราย จึงทำให้สถานการณ์ดีกว่าทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น หากจะพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปจึงควรมีแหล่งน้ำสำรองและการบริการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะดำเนินการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นายอนุสรณ์ กล่าวเสริมว่า แหล่งน้ำทั่วประเทศจำแนกได้เป็น 3 ระดับคือ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ที่กักเก็บน้ำและใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลางคือ อ่างเก็บน้ำ ฝาย และสุดท้ายที่ถูกมองข้ามคือแหล่งน้ำขนาดเล็กพื้นที่ 2-3 ไร่ จำพวกแอ่งน้ำตามธรรมชาติ สระขุด ที่มีจำนวนมากและมีประโยชน์อย่างมาก

การบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของภาครัฐมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่แหล่งน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากการขุดของชาวบ้าน หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ อาทิ บึง บ่อน้ำ ส่วนใหญ่ฝ่ายที่ดูแลคือ พื้นที่นั้นๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งชาวบ้านที่มีการบริหารจัดการกันเอง จึงไม่มีการตรวจวัดว่า แหล่งน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนนั้นมีปริมาณน้ำเท่าไร

จิสด้าจึงใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายภาพดาวเทียมสำรวจทั่วประเทศไทย พร้อมทั้งวาดแผนที่ที่แสดงถึงข้อมูลแหล่งน้ำผิวดินขนาดเล็กว่า จุดไหนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ พบว่า ประเทศไทยมีแหล่งน้ำขนาดเล็กขนาด 2-3 ไร่กว่า 141,022 บ่อ หากกักเก็บได้เต็มรวมทั่วประเทศจะมีปริมาณกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำคงเหลือกว่า 38.65% เทียบเท่ากับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้

157864021265

เบื้องต้นได้จัดส่งข้อมูลการติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดเล็กให้กับทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สนทช.) เพราะเป็นหน่วยงานศูนย์กลางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อที่จะดำเนินการสานต่อแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ จิสด้าอยู่ระหว่างพัฒนาโมเดลคำนวณและประมาณการปริมาณน้ำ โดยจะใช้งานร่วมกับภาพถ่ายดาวเทียม ในการประเมินปริมาณน้ำและสุ่มวัดความลึกของแหล่งน้ำ จากการทดสอบใช้เบื้องต้นพบว่า ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่า 1 แสนบ่อดังกล่าว คงเหลืออยู่ประมาณ 1.9 พันล้านลูกบาศก์เมตร หากชุมชนชาวบ้านมีการบริหารจัดการที่ดี ผ่านการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐที่มีความรู้ในเรื่องน้ำอย่าง สนทช. มั่นใจว่า ในอนาคต แหล่งน้ำตรงส่วนนี้จะช่วยบรรเทาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จิสด้ามีโครงการจะติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำอัตโนมัติในพื้นที่แหล่งน้ำขนาดเล็กที่สามารถแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์ โดยจะติดตั้งทั่วประเทศประมาณ 5% โฟกัสที่ภาคอีสานและเหนือตอนล่างเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ตรงส่วนนี้ประสบกับภาวะภัยแล้งบ่อยครั้งและมีการบริหารจัดการน้ำไม่ดีเท่าที่ควร หลักการในการติดตั้งคือ 1.กระจายพื้นที่ในการติดตั้ง 2.เลือกแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน จากนั้นเมื่อทราบถึงแหล่งน้ำตรงจุดนี้ผ่านเทคโนโลยีที่มีการนำไปติดตั้งชุมชนก็จะเกิดการบริหารจัดการกันเองได้ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในการใช้น้ำอย่างสูงสุด แต่จะต้องรองบประมาณปี 2564 จึงจะสามารถดำเนินการ

157889468938

ส่วนภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้ง โดยพิจารณาจากค่าดัชนีภาวะความแห้งแล้งที่อัพเดตทุกๆ 7 วัน และอาศัยข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน อาทิ ดัชนีความเป็นพืชพันธุ์ ความชื้นในดิน เพื่อประมาณการว่าความแล้งนั้นอยู่ในภาคส่วนใด พบว่าเมื่อเปรียบเทียบสภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2563 กับปี 2558 ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ฉุดจีดีพีลด 0.52% ถือว่ายังต่างกันมาก ปัญหาในครั้งนี้ไม่ได้รุนแรงมากดนักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แต่ส่วนที่น่ากังวลคือ ด้านอุปโภคบริโภคที่จะเกิดขึ้นบริเวณภาคอีสานหลายพื้นที่ ทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ที่มีน้ำกักเก็บปริมาณน้อยมากที่สุด ส่วนพื้นที่ริมน้ำโขงข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซต-8 เปรียบเทียบน้ำบริเวณแม่น้ำโขงระหว่างปี 2562-63 พบว่าบางจุดต่ำกว่าวิกฤตการณ์สถิติภัยแล้งที่เคยมีมา ด้านภาคกลาง ตามแผนที่มีการบูรณาการร่วมกันนั้นมีผลกระทบไม่มาก เพราะมีการกักเก็บน้ำไว้เพียงพอแต่เหตุการณ์น้ำประปากร่อยนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารจัดการแล้วในเบื้องต้น แต่เกษตรกรต้องช่วยกันด้วยการงดสูบน้ำขึ้นมาใช้เพื่อรักษาน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค

“วิธีการที่จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้คือ เปลี่ยนทิศทางหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน และทุกภาคส่วนจำเป็นต้องหันมามองแหล่งน้ำขนาดเล็กที่นับเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างดี เพราะอนาคตความต้องการใช้น้ำจะสูงขึ้น จึงต้องคำนึงถึงการกักเก็บน้ำและการใช้แหล่งน้ำทดแทนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุสรณ์ กล่าว