'สุวิทย์' เร่งเดินเครื่อง 'อีอีซีไอ' ยกชั้นอุตสาหกรรมฐานรากทั้งระบบ

'สุวิทย์' เร่งเดินเครื่อง 'อีอีซีไอ' ยกชั้นอุตสาหกรรมฐานรากทั้งระบบ

โครงการเสาหลักของอีอีซี คือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและสร้างบุคลากรชั้นนำป้อนอุตสาหกรรม S-curve และสร้างฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับประเทศ

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ความคืบหน้าอีอีซีไอ ได้เริ่มดำเนินก่อสร้างตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 และล่าสุดก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคกว่า 45% มีผู้เช่าที่ดินแล้ว 140 ไร่ คิดเป็น 29% อยู่ระหว่างการเจรจา 209 ไร่ หรือมีสัดส่วน 43% รวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนที่ดินทั้งหมด 72% ของพื้นที่ให้บริการในระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงกลางปี 2564

อีอีซีไอ จะมีโครงการหลัก 3 ส่วน คือ 1.Biopolis หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ 2.เขตนวัตกรรมพิเศษ ARIPOLIS ศูนย์กลางระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะ 3.ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Space Krenovapolis)

โครงการ Biopolis จะเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก เพราะจะช่วยสนับสนุนนโยบาย BCG ที่ประกอบด้วย Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) 

รวมทั้ง จะยกระดับอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานของไทยทั้งระบบ โดยจะลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีในไทย ซึ่งโรงงานต้นแบบที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกับบริษัท ไบโอเบสยุโรปไพลอตแพลน (เบลเยียม) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าชีวภาพใหญ่สุดในยุโรป และเป็นครั้งแรกที่บริษัทนี้ออกมาลงทุนนอกยุโรป โดยร่วมตั้งบริษัทไบโอเบส เอเชีย ไพลอตแพลน ในสัดส่วน 50:50 ทำหน้าที่บริหารจัดการโรงงาน โดยในอนาคตจะขยายผลสู่ความร่วมมือตั้งโรงงานไบโอเบส แอฟริกา ไพลอตแพลน ,ไบโอเบส อเมริกา ไพลอตแพลน

โรงงานไบโอรีไฟเนอรี่ต้นแบบนี้จะมีมูลค่า 3,410 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้ายของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปแล้ว ซึ่งในขณะนี้ได้มีเอกชนสนใจเข้ามาใช้บริการโรงงานแห่งนี้แล้ว 7 ราย และเกิดความร่วมมือแล้ว 3 ราย เช่น มิตรผล , จีซี , มาลี รวมทั้งร่วมมือกับเยอรมันวิจัยอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย เพราะเยอรมันก้าวหน้าเทคโนโลยีชีวภาพสูงมาก

“โรงงานไบโอรีไฟเนอรี่ต้นแบบนี้ จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยอย่างรวดเร็ว"

โดยจะช่วยแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคตและชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยให้เพิ่มขึ้นอีกมาก

157863943198

นอกจากนี้ จะขยายผล Biopolis ไปสู่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยจะจัดทำแผนที่นำทางอุตสาหกรรมสัตว์น้ำร่วมกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม ฟาร์มต้นน้ำ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐ มุ่งเน้นการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้น้ำน้อยในระบบปิดลดปัญหาขาดแคลนน้ำ และการปล่อยน้ำเสีย เลี้ยงปลาได้ทุกพื้นที่ แม้แต่การเลี้ยงปลาน้าเค็มในพื้นที่ห่างไกลทะเล 

รวมทั้งนำร่องสาธิตเทคโนโลยีระบบควบคุมกึ่งอัตโนมัติในการเลี้ยงกุ้งในบ่อดินที่เหมาะสมกับเกษตรกรขนาดเล็กและขนาดกลาง ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาในฉะเชิงเทรา พัฒนาต้นแบบระบบเลี้ยงปลาแบบปิดและน้ำหมุนเวียน เพิ่มความหนาแน่นปลาจากการเลี้ยงกับ ป.เจริญฟาร์ม และ พรีเมียร์โปรดักส์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์น้ำทำให้ลดต้นทุนและมีผลกำไรมากขึ้น

ส่วน ARIPOLIS จะนำร่องการพัฒนาโมเดลการจัดการเกษตรแปลงใหญ่ (อ้อย) โดยใช้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับกลุ่มมิตรผล และสถาบันวิจัย IBM นำร่องเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับร่วมกับ แสนสิริ เวนเจอร์ ,Whetron จากไต้หวัน AIROVR สตาร์ทอัพสัญชาติไทยและกรมวิทยาศาสตร์บริการบนพื้นที่ T77 ของบริษัทแสนสิริ และเปิดตัว AI Service Platform วันที่ 9 ก.ย. 2562 เพื่อบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจ โดยใช้ Software Park Thailand เป็นฐานก่อนขยายผลไปสู่อีอีซีไอ

อีอีซีไอ ยังได้จัดสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน โดยได้ร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาโครงการนี้ โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนี้นับเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีวิศวกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการตอบโจทย์ทางวัสดุถึงระดับอะตอมและโมเลกุล เพื่อประยุกต์ต่อยอดในภาคเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น เกษตร การแพทย์ เภสัชกรรม อุตสาหกรรม

“ในขณะนี้การลงทุนเครื่องซินโครตรอนได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และผ่านการพิจารณาของ สศช.แล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 9 พันล้านบาท”

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนก.พ. 2563 อว. จะเดินทางไปเจรจากับยูแคส (UCAS : University of Chinese Academy of Sciences) ซึ่งเป็นองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์ใหญ่ที่สุดของจีนมีมหาวิทยาลัย 4 แห่ง และจะดึงมาตั้งมหาวิทยาลัยแห่งที่ 5 ในอีอีซีไอ และดึงดูดสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวให้เข้ามาตั้งด้วย

โครงการในอีอีซีไอจำเป็นต้องเร่งสร้างบุคลากรทักษะสูง ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) มีแผนเปิดรับพนักงานเพิ่มรวม 1,000 อัตรา โดยจะเปิดรับ 300 อัตรา ในปี 2564 ดึงดูดนักเรียนทุนมาอยู่ในอีอีซี 70 คน มาร่วมทำงาน ดึงดูดนักวิจัยนานาชาติและ Post Doc มาร่วมทำงาน 190 คน (2561-2564) และจัดสรรทุน อว. เพื่ออีอีซีไอ 300 ทุน (2561–2565)

157881018274