แนะผู้ใหญ่ชวนลูกกินผักรักสุขภาพ สร้างสุขภาวะเติบโตสมวัยรับวันเด็ก

แนะผู้ใหญ่ชวนลูกกินผักรักสุขภาพ สร้างสุขภาวะเติบโตสมวัยรับวันเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ แนะผู้ใหญ่ให้ความรักเป็นของขวัญที่ดีที่สุดกับเด็ก ปลูกฝังค่านิยมสุขภาพ ทำให้เด็กเติบโตสมวัย ห่างไกลจากภาวะโภชนาการขาด-เกิน ผอม เตี้ย อ้วน โง่ พร้อมชี้ทางออกเด็กไม่กินผัก พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 63 ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.และที่ปรึกษาด้านโภชนาการ กรมอนามัย เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านภาวะโภชนาการเด็กไทยในวันนี้ว่า มีทั้งขาดและเกิน มีทั้งอ้วน ผอม เตี้ย หากปล่อยไว้เช่นนี้ โตขึ้นคุณภาพของคนไทยย่อมด้อยลงแน่นอน ในโอกาสวันเด็กที่กำลังมาถึงจึงอยากให้ผู้ใหญ่ให้ของขวัญที่ดีที่สุดแก่เด็ก นั่นคือความรัก ซึ่งหลายคนอาจบอกว่ารักอยู่แล้ว แต่ความรักในที่นี้ ไม่ใช่แค่การกอด หอม จูบ เลี้ยงดู อาบน้ำ ประแป้งให้เด็ก แต่ถ้าคุณรักเด็ก คุณจะทำอย่างไรให้เด็กเติบโตสมวัย ทำให้เด็กกินผัก ไม่กินหวานมันเค็ม ทำให้เด็กออกกำลังกาย ถ้ารักเด็กจริงต้องเป็นต้นแบบที่จะปลูกฝังค่านิยมหรือพฤติกรรมสุขภาพให้เด็กอย่างถูกทาง

อย่างไรก็ตาม ที่พบเห็นโดยทั่วไป ส่วนใหญ่เด็กไม่ชอบกินผัก เรื่องนี้ อาจารย์สง่า ให้ความเห็นว่า เด็กไม่กินผักมีหลายสาเหตุ คือ 1.พ่อแม่หรือคนเลี้ยงมองไม่เห็นความสำคัญและคุณค่าของผัก ให้ความสำคัญแค่การดื่มนม กินขนม กินของที่เด็กชอบ มีเพียงพ่อแม่ไม่กี่คนที่เห็นว่าผักคืออาหารสำคัญที่ต้องอยู่ในวิถีของเด็ก ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เห็นความสำคัญของผัก ตนเองก็จะไม่กินผัก ส่งผลให้บนโต๊ะอาหารที่พ่อแม่ลูกกินด้วยกันไม่มีผัก หรือมีน้อย

2.พ่อแม่ไม่ได้ฝึกเด็กกินผัก ในทางทฤษฎีการที่จะให้เด็กกินผักเมื่อเขาโตขึ้นนั้น ต้องให้เขารู้จักกินผักมาตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะช่วงแรกเกิดถึงหกเดือน เด็กจะกินนมแม่เพียงอย่างเดียว แต่พอเด็กเริ่มกินอาหารตามวัยได้แล้ว จะต้องได้กลิ่นไอของผัก หากส่วนใหญ่อาหารมื้อแรกที่ได้กินนอกเหนือจากนมที่ดื่มมาครบ 6 เดือน มีแค่ข้าวและเนื้อสัตว์ ไม่มีผัก การปลูกฝังค่านิยมกินผักจึงไม่เกิด เมื่อโตขึ้นเด็กก็ไม่กินผัก

3.การไม่ฝึกให้เด็กกินผักอย่างต่อเนื่อง พอเด็กไม่ได้กินผัก โตขึ้นก็จะปฏิเสธผัก ที่บ้านไม่ได้กินผักเป็นตัวย่างแก่เด็ก แต่พอมากินอาหารกลางวันในโรงเรียน มีผักในถาดหลุม เด็กก็กินผัก ครั้นกลับไปบ้านเด็กไม่ยอมกินผักอีก 4.อิทธิพลของสื่อที่ไม่ได้บอกว่าผักมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่กินผักจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ไม่มีสื่อตรงนี้ออกมาให้เห็น ผักถูกให้ความสำคัญน้อย เด็กจึงไม่กินผัก

ดังนั้นอาจารย์สง่าจึงสรุปว่าการที่จะให้เด็กกินผัก พ่อแม่ต้องกินผัก และเห็นความสำคัญของผักก่อน อย่าเริ่มต้นที่เด็ก พ่อแม่แม่ครัวคนทำอาหาร คนเลี้ยงเด็ก ต้องกินผัก ทำให้เห็นว่าผักเป็นอาหารที่มีความสำคัญไม่แพ้ไข่ นม เนื้อสัตว์ ผักต้องอยู่ในอาหารทุกมื้อ แล้วนำความสำคัญของผักมาฝึกเด็กกินผักให้ได้ โดย 1. ผู้ใหญ่กินเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น 2. อาหารทุกมื้อของเด็กต้องมีผักและผู้ใหญ่ก็กินด้วย 3.ทำให้เด็กรับรู้ถึงประโยชน์ของผัก

นอกจากนี้ ในหลักสูตรการเรียนการสอน จะแทรกประโยชน์ของการกินผักลงไปใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองได้รู้ว่าเด็กมาโรงเรียนได้กินผัก เมื่อกลับไปบ้านผู้ปกครองต้องทำเมนูผักให้เด็กกินด้วย ไม่ใช่ให้เด็กกินผักเฉพาะที่โรงเรียน โดยเด็กจะกินผักก็ต่อเมื่อเกิดความชอบ จึงต้องเลือกผักที่เด็กชอบ เด็กคุ้นชินก่อน ซึ่งเป็นผักที่อร่อย มีรสหวาน กรอบ ไม่ขม ไม่เหนียว

“สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องทำการสื่อสาร ให้สังคมและคนไทยเห็นว่าผักมีความสำคัญ หากวิธีที่สำเร็จมาแล้วในโครงการเด็กไทยแก้มใส คือเด็กไม่เคยกินผักมาก่อน แต่สอนเด็กเพาะถั่วงอก ให้เด็กลงแปลงปลูกผัก ให้เด็ดตำลึงมาหั่นทำกับข้าว ให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำกับข้าวที่เป็นเมนูผัก แล้วเด็กจะกินผัก เป็นต้น” อาจารย์สง่า กล่าว