ปลดล็อกกำลังผลิต ดันรายได้ 'นิวไฮ' SFLEX

ปลดล็อกกำลังผลิต ดันรายได้ 'นิวไฮ' SFLEX

หมดเวลาจำกัดการเติบโตธุรกิจ ! 'ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์' หุ้นใหญ่ 'สตาร์เฟล็กซ์' โชว์พันธกิจผลักดันฐานะการเงินปีนี้ 'ทุบสถิติสูงสุด' นับแต่ตั้งบริษัท หลังกำลังผลิต & ลูกค้ารายใหญ่เพิ่ม แถมไตรมาส 2 นี้ เดินเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิด SACE ฝาจุกเกียว !

ทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดในการพัฒนา และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หนึ่งใน 'จุดแข็ง' ของ บมจ. สตาร์เฟล็กซ์ หรือ SFLEX ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) ทำให้ยอดขายที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง 

สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2559-2561) ของ SFLEX มี 'กำไรสุทธิ' 33.29 ล้านบาท 146.63 ล้านบาท และ 136.11 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' 1,181.01 ล้านบาท 1,353.33 ล้านบาท และ 1,374.25 ล้านบาท ตามลำดับ ล่าสุดงวด 9 เดือน ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 46.42 ล้านบาท และรายได้ 943.22 ล้านบาท 

'ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. สตาร์เฟล็กซ์ หรือ SFLEX แจกแจงความโดดเด่นธุรกิจให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ ยอมรับว่า เมื่อต้องการ 'ปลดล็อค' การเติบโตของธุรกิจ ต้องมีเงินลงทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ เป้าหมายของการเข้ามาระดมทุนครั้งนี้ คือ การนำเงินไป 'ขยายกำลังการผลิต' และ 'เพิ่มพื้นที่คลังสินค้า' โดยมีแผนการลงทุนมูลค่ารวม 190 ล้านบาท หลังจากช่วงปี 2560-2561 ใช้กำลังการผลิตราว 92% ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดจำนวน 184.44 ล้านเมตรต่อปี  

สอดคล้องกับจำนวน 'ลูกค้ารายใหม่' ที่เพิ่มเข้ามาหลากหลายราย หลังบริษัทมีการขยายฐานลูกค้าเข้าไปในกลุ่มตลาดผู้บริโภค (Food) ซึ่งใหญ่กว่าตลาด Non-Food หลายเท่าตัว อย่างล่าสุด บริษัทได้ลูกค้ารายใหญ่คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ในการผลิตถุงข้าว โดยมี 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) เข้ามาเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังเป็นออเดอร์ที่ยังไม่มากนัก 

นอกจากนี้ กำลังอยู่ระหว่างกระบวกการเจรจากับลูกค้ารายใหม่ในการผลิตถุงข้าวอีก 5 ราย คาดว่าจะเริ่มมีออเดอร์เข้ามาราวไตรมาส 3 ปี 2563 หลังจากบริษัทเพิ่งเดินเครื่องจักรผลิตถุงข้าวเพียง 1 ตัว โดยในเดือนนี้เครื่องจักรตัวที่ 2 จะเข้ามาติดตั้งและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ 

ทั้งนี้ ปี 2563 บริษัทตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 10-15 ราย จากปีก่อนมีลูกค้า 36-37 ราย ดังนั้น คาดว่าปลายปีบริษัทจะมีลูกค้าประมาณ 50 ราย ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของบริษัทด้วยเนื่องจากไม่ได้พึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น 

'เราเจาะกลุ่มที่ต้องการถุงข้าวชนิดไฮเอ็นที่มีมาร์จินในระดับ 10-11% กลุ่มบรรจุภัณฑ์ถุงข้าวแบบง่ายเราไม่ลงไปเล่นเพราะมาร์จินต่ำแค่ 3% เท่านั้น'

เดิมบริษัทมีฐานลูกค้ารายใหญ่ 4 รายใหญ่เป็นหลัก คือ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด , บริษัท นีโอแฟคทอรี่ จำกัด , บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไอ.พี. แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด  คิดเป็นสัดส่วนรายได้ของ 4 ลูกค้ารายใหญ่ 83.91% ตัวเลข ณ งวด 9 เดือนปี 2562  

เขา บอกต่อว่า หลังจากนี้บริษัทจะไม่ 'เหยียบเบรก' อีกต่อไป หลังบริษัทขยายกำลังการผลิตเสร็จเรียบร้อยในปี 2562 คาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น และสามารถขยายฐานลูกค้ารายใหม่เข้ามาอีก ซึ่งถึงเวลานั้นพร้อมเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' ทันที

'เราต้องเข้าระดมทุนเมื่อเป้าหมายเราต้องการขยายกำลังผลิต ไม่เช่นนั้นธุรกิจของเราจะล่าช้ากว่าคู่แข่ง' เขาบอกถึงวิสัยทัศน์หลังเข้าตลาดหุ้น เมื่อ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา 

ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 'บรรจุภัณฑ์ประเภทม้วน' (Roll Form) และ 'บรรจุภัณฑ์ประเภทซอง' (Pre Form Pouch) รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Stand-up Pouch, 3-Sided Seal Pouch, Center Seal Pouch และ 4-Sided Seal Pouch

'โมเดลสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partnership) กับลูกค้าในระยะยาว ชนะเทรนด์อุตสาหกรรมของโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว' ผู้ก่อตั้ง บมจ.สตาร์เฟล็กซ์ มีความเชื่อเช่นนั้น…! 

ด้วยมาตรฐานของสินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าระดับสากล ! จึงทำให้สามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าดังกล่าวได้ ถือว่า 'เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน' ของบริษัทอย่างมาก 

ก่อนจะเข้าเรื่องแผนธุรกิจ 'ผู้ก่อตั้ง' เล่าจุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจว่า ก่อตั้งบริษัทเมื่อ 20 ส.ค. 2546 ปัจจุบันมีประสบการณ์คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจบรรจุภัณฑ์มายาวนานกว่า 32 ปี หลังเรียนจบปริญญาตรีคณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการตลาด จากประเทศสหรัฐฯ และเรียนด้านการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ร่วมด้วย  

ก่อนกลับมาเมืองไทยในช่วง อุตสาหกรรมการค้าระหว่างประเทศกำลัง 'บูมมาก' และเป็นจังหวะที่เมืองไทยขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องการส่งออกยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนค่าแรงยังไม่สูงมากเฉกเช่นตอนนี้ ซึ่งตนเองกลับมาช่วงธุรกิจโรงพิมพ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ของครอบครัว ก่อนจะมาก่อตั้ง 'สตาร์เฟล็กซ์' เนื่องจากเห็นโอกาสทำธุรกิจเพราะว่าตลาดเมืองไทยตอนนั้นต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) มาก หลังจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์จากกระดาษมาเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน ประกอบกับกระแสใช้สินค้าประเภท 'รีฟิล' (refill) ทำให้ซับพลายในตลาดไม่มี ตอนนั้นจึงเสนอตัวเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนให้กับทาง ยูนิลีเวอร์ ซึ่งธุรกิจของบริษัทเติบโตต่อเนื่องมาตลอด 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจกแจงแผนธุรกิจต่อว่า ผลประกอบการปี 2563 จะเติบโต 'อลังการ' หรือ รายได้-กำไร จะทำ 'สถิติสูงสุด' (New High) นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเลย สะท้อนผ่านแผนขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าคำสั่งซื้อในมือแล้วกว่า 200-300 ล้านบาท โดยคาดว่าการใช้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น จึงประมาณการรายได้เติบโตมากกว่า 15% ขณะที่กำไรขั้นต้น อยู่ในระดับ 21-23% ประกอบกับการที่บริษัทเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยมในกลุ่มอาหารมากขึ้นเริ่มสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2563

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนซื้อเครื่องจักรการผลิตใหม่ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ซองฝาจุกเกียวขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นเทรนด์ของตลาดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจแย่ กำลังซื้อของผู้บริโภคหดตัว ฉะนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี สินค้าที่แบ่งขายได้นั้น จะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเอื้อถึงเพราะราคาไม่แพงมาก

'บรรจุภัณฑ์ประเภท SACE ฝาจุกเกียว จะเป็นสินค้าที่มีการเติบโตสูงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งปัจจุบันกำลังเจรจาซื้อเครื่องจักรผลิต มองว่าอนาคตเป็นตลาดที่มีมูลค่าใหญ่มาก คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งลูกค้าของเราก็ยูนิลีเวอร์ที่ตอนนี้ซับพลายไม่เพียงพอ ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่จะเข้าไปในปีนี้'

สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทต้องยอมรับว่ารายได้และกำไรสุทธิจะใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,374.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 136.11 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อลดลง และลูกค้ารายหลักของบริษัทได้ปรับลดคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะจากลูกค้า 4  รายใหญ่   

ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนตลาดมีการแข่งขันสูง เนื่องจากบรรจุภัณฑ์มีหลากหลายประเภทและมีผู้ผลิตทั้งรายเล็กและใหญ่จำนวนมากทำให้ลูกค้ามีทางเลือกและมีสินค้าทดแทนเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากลูกค้าหลักของบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศจึงให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพที่ได้มาตรฐานความสวยงามและทันสมัยของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ท้ายสุด 'ปรินทร์ธรณ์' ทิ้งท้ายไว้ว่า แนวโน้มผลประกอบการจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562 เป็นต้นไป และจะเห็นทิศทางการกลับมาเทิร์นอะราวด์แบบชัดเจนและเติบโตแบบก้าวกระโดนในปี 2563  และสะท้อนว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดของ SFLEX ไปแล้ว 

'อาเซียน' สเต็ปต่อไป 

'ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. สตาร์เฟล็กซ์ หรือ SFLEX เล่าให้ฟังว่า ในปี 2563 บริษัทจะเน้นขยายตลาดในประเทศก่อน เนื่องจากปีก่อนบริษัทยุ่งแต่เตรียมนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้น ในปีนี้บริษัทต้องโฟกัสผลประกอบการให้กลับมาเติบโตก่อน ซึ่งบริษัทมองว่าผลประกอบการ 'ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว' เมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมา 

ฉะนั้น ในปี 2564 บริษัทจะเริ่มขยับตัวเองออกไปลงทุนใน 'ต่างประเทศ' ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษาขยายการลงทุนเข้าไปในตลาด 'ประเทศเมียนมา' โดยจะใช้การขนส่งแบบโลจิสติกส์ทางรถยนต์ เนื่องจากบริษัมมีเครือข่ายพันธมิตรที่ดี คาดว่าจะใช้เวลาขนส่งสินค้าเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น ดังนั้น ไม่จำเป็นที่บริษัทจะเข้าตั้งโรงงาน ประกอบกับมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะว่าเมียนมามีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าเช่าออฟฟิศ ราคาสูงกว่าเมืองไทยมาก 

อีกหนึ่งประเทศที่บริษัทมองว่าต้องขยายการลงทุนคือ 'ประเทศเวียดนาม' ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาแนวทางลงทุนไว้ 3 แนวทางคือ 1.ซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) ซึ่งในเวียดนามมีผู้ประกอบการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่ 2.จอยเวนเจอร์กับพาร์ทเนอร์ (ร่วมทุน) และ 3.ลงทุนตั้งโรงงานซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นแนวทางสุดท้ายที่เลือก เพราะว่าการตั้งโรงงานเองที่นั้น บริษัทจะต้องแบกขาดทุน หรือขาดทุนอย่างน้อย 2-3 ปีก่อน 

'คาดว่าจะมีโอกาสเห็นภาพการลงทุนทั้งสองประเทศปลายปี 2564 ด้านประเทศลาว-กัมพูชา เราจะใช้วิธีขนส่งเข้าทางชายแดน เพราะว่าทั้งสองประเทศมีประชากรยังน้อยมาก ไม่คุ้มที่จะไปลงทุนตั้งโรงงานด้วยตัวเอง'