ก้าวที่กล้า ‘ชุมพร คาบาน่า’

ก้าวที่กล้า  ‘ชุมพร คาบาน่า’

การลงขันเพื่อชำระหนี้ให้ธุรกิจแห่งนี้ ไม่ธรรมดา เงินกว่าร้อยล้านบาท ทำไมคนลงขันเต็มใจช่วยเหลือกัน

""""""""""""""""""""""""""

เมื่อปลายปีที่แล้ว ข่าวSAVE ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต หาดทุ่งวัวแล่น อ.ปะทิว จ.ชุมพรด้วยการชักชวนลงขันกว่า 100 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ประสบความสำเร็จ กับแนวคิดธรรมธุรกิจ โดยผู้ก่อการดีอาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, โจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านดินและเก็บเมล็ดพันธุ์ และพิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวศิริภิญโญ ที่มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือชาวนาไทยให้อยู่อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต เจอปัญหาวิกฤติทางการเงินหลายครั้ง ไม่ต่างจากธุรกิจทั่วไปถูกเร่งรัดให้ชำระหนี้ แต่ริสร รักษ์พันธุ์ เจ้าของธุรกิจตัดสินใจไม่ขายรีสอร์ตและพื้นที่ริมหาดทุ่งวัวแล่น จึงเกิดการลงขันทั้งแบบมีส่วนร่วม คือ การให้ ด้วยการบริจาคเท่าไรก็ได้ สามารถขอเงินลงขันคืนได้ และแบบมีผลตอบแทนโดยให้กู้ยืมเงิน จะได้ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี

ณ วันนี้ ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต ผ่านวิกฤตกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเต็มตัว ยังคงเดินตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยบริหารจัดการด้วยรูปแบบบริษัทสหกรณ์ และมูลนิธิรวมถึงวริสร ยังทำหน้าที่บริหารด้วยรูปแบบใหม่ คือธรรมธุรกิจวิสาหกิจชุมชน ฐานธรรมธุรกิจชุมพร

หากใครคิดว่า รีสอร์ตแห่งนี้ จะแปลงโฉมเป็นอะไรที่เชยๆ บ้านๆ ปลูกผักปลอดสารพิษอย่างเดียว คงต้องคิดใหม่....

และนี่คือ ก้าวใหม่ที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไปของชุมพร คาบาน่า รีสอร์ต

  157863412133

ก่อนหน้านี้คิดว่าจะมีคนลงขันจนสามารถชำระหนี้กว่า 100 ล้านบาทได้ไหม

ผมทำทุกอย่างเหมือนการปฏิบัติธรรมเน้นความเพียรอันบริสุทธิ์ จะได้หรือไม่ ก็ทำเต็มที่ ผลจะเป็นยังไง ก็ยอมรับตามนั้น ไม่ได้หวังและหมดกำลังใจ เพราะเป็นหนี้สะสมตั้งแต่สมัยคุณพ่อ มาจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ การเมืองและการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัญหาหนี้เกินการควบคุม เมื่อเราชำระหนี้ไม่ทันเวลา เขาก็ใช้วิธีการฟ้อง

 

ตั้งใจที่จะทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอยู่แล้ว ?

น่าจะเป็นจิตเก่า เรามีศรัทธาทางนี้ ตอนนี้ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวแล้ว เปลี่ยนมาเป็นครอบครัวใหญ่ 5,000 กว่าคนเรื่องนี้ซ้อนกันอยู่หลายมิติ ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาแล้วค่อยทำ เราทำมาก่อน พอมีปัญหาเราก็ขับเคลื่อนให้ชัดขึ้น เรื่องหนี้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ผมมองว่าคนไทยไม่พร้อมที่จะเป็นหนี้ แต่ก็ถูกเชิญเข้ามาเป็นหนี้อย่างง่ายดาย ก็เลยเป็นหนี้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ในสภาวะปัจจุบัน ผมว่าน่ากลัวมาก

เราใช้ชื่อว่าธรรมธุรกิจ เป็นบริษัทที่มีหัวใจของธุรกิจคือธรรมะ คนเชื่อว่า ธรรมะกับธุรกิจไปด้วยกันยาก เป็นไปไม่ได้ ก็จะเจอแนวคิดแบบนี้ตลอด ดังนั้นแนวคิดที่ว่าเอาธรรมมานำหน้าธุรกิจจะต้องเกิดขึ้นจริง ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงวางแนวทางไว้ ทุกเรื่องจะมีธรรมะนำแต่มีการตีความและเข้าใจผิดในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นเศรษฐกิจหลังเขา เอาเรื่องเกษตรอย่างเดียว ต้องทำไร่ไถนา

ขณะที่ธุรกิจทั่วไปใช้กิเลสนำ มุ่งที่ความสำเร็จ ผลประกอบการ เงินปันผล เรามาฝึกคำว่า‘พอ’นอกจากใช้ธรรมะ ยังใช้ความสามัคคีของสมาชิกธุรกิจที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์สุข ไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์คนแรกรู้จักกันมา 20 กว่าปี ซึ่งเรื่องนี้คุยกันนานแล้วคือเป็นรูปบริษัทผสมมูลนิธิและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายออกมาเป็นพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

 

เป็นรีสอร์ตแถวหน้าที่บริหารจัดการแบบพอเพียง ?

จะบรรลุคำว่า ‘พอ’ ต้องมีความขยันและมีความเพียร เราจะใช้ชุมพรคาบาน่า เป็นเครื่องมือในการฝึกและปฏิบัติ ที่นี่จึงไม่ใช่ที่พักผ่อนหย่อนใจและการดำน้ำอย่างเดียว เรามีศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ‘เพลิน’โรงเรียนสีคราม โรงเรียนสีเขียว และใช้กระบวนการ play and Learn ซึ่งศาสตราจารย์ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช คิดคำนี้ ผมเคยไปขออนุญาติท่าน (ตอนที่มีชีวิตอยู่) เพื่อเป็นสถานที่ให้ทุกคนเล่นและเรียนรู้ทุกสรรพสิ่ง ทั้งเรื่องพืช สัตว์และสภาวะอากาศ รวมถึงเรื่องจิตใจ สัจธรรมความเป็นมนุษย์ และลงมือทำร่วมกัน

 

ระบบวิสาหกิจชุมชนต้องบริหารจัดการอย่างไร

เป็นรูปแบบใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย เราเป็นบริษัทมหาชน แต่ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ถ้ามีผลกำไรเราจะนึกถึงผลตอบแทนทางสังคมก่อน และเรื่องนี้เป็นครั้งแรกหลายเรื่อง ธุรกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่จะเป็นการรวมกลุ่มคนไม่กี่คน หรือไม่ก็เป็นบริษัทใหญ่แต่เราเป็นบริษัทที่มีสมาชิกลงทุนประมาณ 5,000 กว่าคน ช่วงแรกมีเป้าหมายหมื่นกว่าคน ในอนาคตจะขยายสมาชิกลงทุนเป็นแสนคน เพราะเราต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยเหลือกัน ไม่เบียดเบือน ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ต้องเป็นทางสายกลางที่ถูกต้องจริงๆ เราจึงใช้คำว่าธุรกิจที่แน่วแน่ในความถูกตรง

 

การจัดการต่างจากธุรกิจทั่วไปอย่างไร

ที่นี่ได้รับพระเมตตาจากในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงรัชกาลที่10 ด้วย ครอบครัวเรารู้ว่า การสื่อสารงานของพระองค์ท่านสำคัญมาก เราเชื่อมั่นทฤษฎีใหม่ ไม่ได้หมายถึงเกษตรทฤษฎีใหม่ อาจารย์ยักษ์บอกว่า เราเคยเป็นแชมป์เรื่องเกษตร และเศรษฐศาสตร์แบบพึ่งตนเองที่รู้จักคำว่า พอและการให้ คือทาน นี่คือเศรษฐศาสตร์ใหม่ เป็นทางรอดของโลกใบนี้ ถ้าจะทำให้ทุกคนเชื่อ ต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง

 

ทำไมมั่นใจว่า นี่คือเส้นทางสร้างความยั่งยืน

ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์การให้และแบ่งปัน ทำแล้วก็มีความสุขทำงานเหมือนการปฎิบัติธรรม ผมเชื่อว่าทุกเรื่องไปด้วยกันได้มีคนเชื่อมั่นแบบนี้เยอะขึ้นถ้าไม่มีวิกฤตเร่ง คนอาจไม่หันมาทางนี้ก็ได้ ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เดินตามๆ กัน แต่เราเดินสวนมา 20 กว่าปี ผมเชื่อว่าแนวคิดแบบนี้เป็นที่พึ่งของทุกคนได้

  157863415357

(ส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่จะปรับปรุง) 

ตอนนี้ชุมพรคาบาน่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ไม่ใช่บริษัทของผมแล้ว เป็นของทุกคนที่ลงขันการบริหารเน้นที่ความถูกตรง ไม่ได้เน้นความร่ำรวยผลตอบแทนสูง มีธรรมอาสาเข้ามาทุกวัน บางคนขับรถมาเอง มาตัดกิ่งต้นไม้ ทำสวนครัวและทานอาหารร่วมกัน เป็นบรรยากาศใหม่ที่ทุกคนมารู้จักกัน

ที่นี่ธรรมชาติสวย สวยขนาดนี้ ถ้าผมขายธุรกิจไป ก็มีเงินเหลือเยอะถ้าทำอย่างนั้น สิ่งที่อยู่กับเราคือความรู้สึกผิด เรามาร่วมกันทำธุรกิจที่ถูกต้อง และเสียภาษีที่ถูกต้อง ให้ความรู้คนในสังคมในเรื่องที่ถูกตรง ซึ่งปัจจุบันหายากมากต้องมาสัมผัส

ในเรื่องอาหารต้องเป็นอาหารที่มนุษย์ควรกิน ปลอดภัย เพราะปัจจุบันทำยังไงก็ได้ให้มีอาหาร ถ้าอยากให้อร่อยก็ปรุงไป เราก็เลยทำตั้งแต่กระบวนการผลิต ระบบค้าขาย การปรุงอาหาร การกิน ทั้งหมดให้ถูกตรงนำมาซึ่งสุขภาพที่ถูกตรง เพราะทุกวันนี้ทุกเรื่องเพี๊ยนหมด

การท่องเที่ยวอีกเรื่องที่เราทำ ต้องเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตคนขาย คนซื้อ ได้เห็นกระบวนการผลิตอาหารถูกตรง ไม่ใช่การท่องเที่ยวที่ล้างผลาญ ต้องดูแลชุมชน เราต้องออกแบบทุกอย่างให้ถูกตรง แต่อาจเริ่มต้นด้วยความอภิรมย์ก่อน แล้วค่อยลงลึก

 

เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ?

อาสาหลายคนมีศักยภาพสูงมาก บางคนมาทดลองทำเราใช้แนวคิดว่า ให้เป็นศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จด้านหลังโรงแรม จะทำเป็นตลาดชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ครัวอาสา ฯลฯ ชาวบ้านมาใช้บริการอาหารที่ดีราคาถูกได้

 

เปลี่ยนจากเจ้าของมาเป็นหุ้นส่วน คุณต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

เราเชื่อว่า ทฤษฎีบริหารแบบเก่าเหมือนยาหมดอายุ ทุกคนมาก็หวังเงินเดือนและความคาดหวังแบบเดิมๆงานของเราไม่ได้เริ่มจากรับสมัครพนักงาน แต่ใช้คนที่มีใจอาสาทำ ระบบก็จะค่อยๆ คัดเลือกคนที่มีหัวใจเดียวกันเพราะทุกคนมีความฝันของตัวเองและตอนนี้ผมอยู่ที่นี่ทุกวัน คนที่ลงขันกับธรรมธุรกิจก็อยากมาดู หนึ่่งเดือนที่ผ่านไปมีธรรมอาสาเข้ามากว่าร้อยคน พวกเขาลงขันธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว เราทำระบบใหม่ สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ และธุรกิจแบบนี้ เราต้องไม่เอายาพิษให้คนกิน

 

กี่ปีจะชำระหนี้ได้หมด

เรื่องที่เราทำประเทศที่มีระบบการค้าเข้มข้นแบบอเมริกาก็มีระบบที่ไม่ต้องคืนเงินต้นเร็ว แต่ให้ดอกเบี้ยผลตอบแทนเป็นเงิน และได้ผลตอบแทนทางสังคมด้วยถ้าระบบเดิม 7 ปีคืนทุน จะบีบลูกหนี้มาก ทำให้คนรบราฆ่าฟันกัน แต่ระบบลงขันธุรกิจเพื่อสังคม กว่าจะได้เงินต้นคืน 15 ปี มากกว่าธุรกิจทั่วไป 2 เท่า ผลกำไร30 เปอร์เซ็นต์ปันผลให้ผู้ถือหุ้น70 เปอร์เซ็นต์คืนใสังคมทำประโยชน์ อันนี้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเราก็เลือกแบบนี้ เราเชื่อว่าถ้าจะพยุงโลกนี้ ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคมต้องดีขึ้น คนลงขันก็ได้ผลตอบแทนเป็นปันผล 3 เปอร์เซ็นต์ดีกว่าฝากธนาคาร ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่

 

มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน

ถ้าเป็นวิธีคิดง่ายๆ ทางโลก ธุรกิจขาดทุนก็แต่งตัวกิจการแล้วขายไป ได้กำไรทันทีร้อยล้าน นำมาแบ่งผู้ถือหุ้นแต่เราคิดว่าธุรกิจต้องสำเร็จได้ด้วยตัวของมันเอง ธุรกิจและคุณธรรมต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน เราไม่ได้เร่ง ที่ผ่านมาใช้เวลาระดมทุน 10 เดือน ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้และเข้าใจทฤษฎีใหม่ อธิบายผ่านออนไลน์ เราถูกเคี้ยวจากอาจารย์ยักษ์ให้ทำทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่รีบ

 

ในอนาคตจะเป็นโมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคมที่บริหารจัดการแบบเครือข่ายไหม

เป้าหมายคือ สร้างตัวอย่างความสำเร็จให้มากที่สุด เราต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินตรงนี้ไว้ ซึ่งเป็นธุรกิจของทุกคน ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นเรื่องขยะมีอาสาเสนอมาทำเรื่องการจัดการขยะแบบครบวงจร ไม่นำขยะออกข้างนอกเลย เรื่องพลังงาน ตั้งใจว่าจะไม่ของบ ผลิตพลังงานที่พึ่งพิงตนเองได้ มีศูนย์บริการที่ชาวบ้านเข้าถึงง่ายๆ

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องมีรสนิยมที่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง หากจะทำห้องน้ำให้ดี ต้องพึ่งการออกแบบ ซึ่งเป็นจุดอ่อนชาวบ้าน การออกแบบไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะก็ทำได้ ถ้าคำนึงถึงฟังก์ชั่นที่ถูกต้องและเลือกใช้วัสดุ ซึ่งเป็นความรู้ทั้งนั้น ชาวบ้านสามารถเข้ามาดูที่นี่ได้

ผมเคยเรียนการโรงแรม ปกติจะให้ความสำคัญแค่การควบคุมต้นทุนเรื่องอาหารมาจากไหน ไม่เคยสนใจ แต่ธุรกิจเพื่อสังคมจะให้ความสำคัญเรื่องการผลิตอาหาร ดูแลดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม อย่างการปรุงอาหาร นอกจากอร่อย เราจะลงลึกไปอีกว่า น้ำมันแบบไหนกินแล้วทำให้คนเส้นเลือดอุดตัน ถ้าไม่ใช้ผงชูรส จะทำให้อาหารอร่อยโดยวิธีธรรมชาติอย่างไร

...........................

ดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ค ธรรมธุรกิจ

  157863420136

วริสร (ขวามือ)