'ซีพี' ได้สิทธิ์ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

 'ซีพี' ได้สิทธิ์ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ "ซีพี" ได้สิทธิ์ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) กับพวกรวม 5 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินกาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งนัดอ่านคำพิพากษาวันนี้ (10 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ปรากฎว่า ให้สิทธิ์บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) ประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ศาลฯ วิเคราะห์จากหลักฐานและข้อกฎหมายพิจารณาว่าการยื่นซองเทคนิกและซองราคาช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ 15.00 น.ไม่เป็นสาระสำคัญที่เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ประมูลรายอื่น และถือว่าไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ประมูลกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขั้นตอนการประมูลได้กำหนดว่าให้ยึดระยะเวลาของการยื่นเอกสาร ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลได้มาแสดงตัวและยื่นเอกสารตามเวลา

รวมทั้งได้พิจารณาถึงเอกสารที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ยื่นถือสำนักงาน สกพอ. ซึ่งได้ให้ความเห็นว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

ศาลฯ พิเคราะห์ด้วยว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ยังมีสิทธิที่จะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทั้ง 3 ราย เพื่อคัดเลือกเอกชนที่มีข้อเสนอและผลตอบแทนที่ดีที่สุดต่อรัฐ

ทั้งนี้ กองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการมอบหมายให้ พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ และประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ (กพอ.ทร.) และ พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มารับฟังคำพิพากษา

ส่วนกลุ่มซีพีผู้ฟ้องคดีมอบหมายให้นางสาวปะราลี เตชะจงจินตนา เป็นผู้แทนมารับฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ฟ้องว่าคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีบางรายการ (ข้อเสนอตัวจริงกล่องที่ 6 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และตัวจริงกล่องที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา) 

ในการยื่นข้อเสนอในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามหนังสือที่ กพอ.ทร.182/2562 ลงวันที่ 10 เม.ย.2562 โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวเกินกำหนดเวลา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย)

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลฯเห็นว่าเอกสารซองข้อเสนอดังกล่าวมาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น. อันเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องซองข้อเสนอไว้พิจารณา โดยไม่ยกเว้นให้กลุ่มกิจการค้าร่วมฯเป็นกรณีพิเศษได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้กิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สรุปความได้ว่า การให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ยื่นซองข้อเสนอให้ครบถัวนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที ซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของผู้ฟ้องคดีอยู่บ้าง

ในขณะที่การเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดียื่นซองข้อเสนอเพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้น จะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง 

รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ผู้ฟ้องคดีน้ำเอกสาร 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 มา ณ จุดลงทะเบียนยื่นข้อเสนอเมื่อเวลา 15.09 น.มาเป็นเหตุไม่รับซองข้อเสนอจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและไม่สอดกล้องกับเจตนารมณ์โครงการ